ส่งท้ายงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2558 ด้วยบูธสุดฮิตจากกระทรวงกลาโหม ที่ไม่ว่าจะเวลาไหน เด็กๆ ก็ให้ความสนใจแวะมาเยี่ยมชมจนต้องต่อคิวกันยาวเหยียดตลอด เพื่อให้พี่ๆ ทหารทำ "แผลเทียม" แบบสดๆ บนร่างกายพร้อมกับการเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลในคราวเดียวกัน
SuperSci สัปดาห์นี้ยังคงปักหลักกันอยู่ที่งานมหกรรมสุดยิ่งใหญ่แห่งปี กับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 ที่ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พ.ย. 58 ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยครั้งนี้จะพาไปเยี่ยมบูธยอดฮิตจากกระทรวงกลาโหม ที่ขนนานานิทรรศการน่าสนใจมาให้ชมซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กิจกรรมการตกแต่งบาดแผลสมมุติที่ให้ทั้งความสยดสยองถูกใจเด็กๆ และความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล
พันเอกหญิงยุพาภรณ์ กรินชัย อาจารย์หัวหน้าโรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า กิจกรรมตกแต่งบาดแผลสมมุติเป็นกิจกรรมที่กระทรวงกลาโหม โดยโรงเรียนเสนารักษ์ฯ นำมาจัดแสดงให้กับเยาวชนในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประจำมาติดต่อกันนานถึง 10 ปี ตั้งแต่งานมหกรรมฯ ครั้งแรก เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลได้อย่างน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ ที่เหล่าอาสาสมัครทหารจะบอกเล่าไประหว่างการทำบาดแผลเทียม
"เด็กๆ จะชอบบูธของเรามาก เพราะเขาว่ามันเท่ มันแปลกดี แต่ความจริงเรากำลังเตรียมตัวให้พวกเขาได้รู้จักบาดแผล ได้เห็นความน่ากลัว เวลาเจอเหตุการณ์จริงจะได้ไม่ตกใจเพราะเคยเจอมาแล้ว แต่ปกติเราใช้กับการฝึกนักเรียนแพทย์พยาบาลว่าแผลแบบไหนเป็นอย่างไร เพราะแผลมีดบาด, แผลโดนฟัน หรือแผลรอยเย็บนั้นมีต้นเหตุการเกิดไม่เหมือนกัน ลักษณะแผล และการปฐมพยาบาลจึงแตกต่าง" พันเอกหญิงยุพาภรณ์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ส่วนวิธีการทำแผลเทียม นางสาวกัลยกร บุญชิต ข้าราชการโรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก อธิบายว่า จะเริ่มต้นจากการแปะเนื้อเทียมลงไปบนส่วนของอวัยวะที่ต้องการทำแผล ซึ่งเนื้อเทียมผลิตจากแป้งสาลีแบบรับประทานได้ที่นำไปผสมกับของเหลวบางอย่างเพื่อให้มีความยืดหยุ่น จากนั้นจึงหยดน้ำลงไปเนื้อเทียมเพื่อเกลี่ยให้เนียนไปกับผิวหนัง ตามด้วยปิโตรเลียมเจลเพื่อรักษาความชุ่มชื้น
เมื่อได้เนื้อเทียมที่เนียนไปกับผิว ขั้นตอนต่อไปกัลยกรอธิบายว่า จะเป็นการลงสีน้ำมันสีแดงและสีน้ำตาลลลงไปที่เนื้อเทียมให้ดูเหมือนแผลสด ก่อนจะเพิ่มความสมจริงอีกขั้นด้วยการใช้ปลายไม้จิ้มฟันกรีดลงไปบนเนื้อเทียมเป็นทางยาวแล้วแหวกให้เหมือนเป็นโพรงแผล ก่อนจะจบขั้นตอนสุดท้ายด้วยการหยอดเกร็ดเลือดเทียมที่มีสีแดงคล้ำและความเหนียวคล้ายเลือดจริงลงไป
"ทุกวันในมหกรรมวิทย์มีเด็กมาต่อคิวให้ทำแผลเทียมประมาณ 600-800 คน เราก็ผลัดเปลี่ยนทหารอาสาสมัครมาเพื่อให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของแผล และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกองทัพด้วย แต่สูตรและส่วนผสมบางอย่างเราไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นงานวิจัยของโรงเรียนเสนารักษ์ฯ ที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเอง จนได้รับรางวัลภูมิปัญญานักรบไทยจากกองทัพบก เพราะมีคุณภาพดี และมีราคาถูกกว่าการนำเข้าวัสดุสร้างบาดแผลจากต่างประเทศหลายเท่า" กัลยกร กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์