xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำลายเทียม” สินค้าจากงานวิจัยที่น่าลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

5 สมาชิกทีม MH Fusion กับน้ำลายเทียม Mouth Me ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันนวัตวณิชย์
คนน้ำลายแตกฟองอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของคนที่ต้องทุกข์ทรมาจากอาการขาดน้ำลายและกลืนกินได้ลำบาก หรือหลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่ามีโรคแบบนี้อยู่ แต่ทีมนักศึกษา มช.ทั้งคณะวิทย์และคณะบริหารธุรกิจได้ร่วมกันปั้นแผนธุรกิจ ส่งผลให้ “น้ำลายเทียม” กลายเป็นงานวิจัยที่น่าลงทุน

5 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ น.ส.จิราวรรณ จินดาแก้ว น.ส.ณัฐธิดา จินตนาการราศรี และนายเบญจรงค์ สินธุยะ จากคณะวิทยาศาสตร์ กับ น.ส.นราสร ศรีชัย และ น.ส.จันทร์จิรา สมิทธิกุล จากคณะบริหารธุรกิจ ได้รวมกลุ่มกันในชื่อทีม MH Fusion เพื่อเข้าแข่งขันการประกวด “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์” (Research to Market:R2M2015) ที่จัดขึ้นโดยการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การประกวดเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ประจำปี 2558 เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.59 ที่ผ่านมา โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับประเทศ หลังการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยและภูมิภาคผ่านพ้นไปจนได้ตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับประเทศจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ทีม ภาคเหนือ 9 ทีม และภาคใต้ 5 ทีม

ทีม MH Fusion นำผลงานน้ำลายเทียมที่มีชื่อทางการตลาดว่า Mouth Me ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาด เพื่อเข้าแข่งขันในเวทีดังกล่าว ด้วยความเข้าใจถึงงานวิจัยเป็นอย่างดีและมองเห็นแนวทางการตลาดที่ชัดเจนของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้การนำเสนอของพวกเขาคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศพร้อมกับเงินรางวัลอีก 50,000 บาท

ตัวแทนทีม MH Fusion ให้เหตุผลแก่ทีมข่าวผู้จัดการออนไลน์ถึงการเลือกผลงานวิจัยน้ำลายเทียมมาสร้างแผนธุรกิจว่า ในตอนแรกพวกเขาก็ไม่รู้จักน้ำลายเทียม จนกระทั่งได้อ่านงานวิจัยจนเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการทำตลาด โดยนักวิจัยผู้พัฒนานั้นผลิตน้ำลายขึ้นมาเพื่อความมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้ที่สร้างน้ำลายไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยทะเร็งลำคอหรือมะเร็งศรีษะ และผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้การกลืนกินอาหารทำได้ยากลำบาก

ในขณะที่ตามท้องตลาดนั้นมีน้ำลายเทียมจำหน่ายอยู่แล้ว แต่น้ำลายเทียมเหล่านั้นยิ่งเคี้ยวอาหารยิ่งทำให้รู้สึกหนืดคอ และมีคุณสมบัติไม่เหมือนน้ำลายตามธรรมชาติ ในขณะที่น้ำลายเทียม Mouth Me นั้นสกัดจากกระเจี๊ยบเขียวที่มีคุณสมบัติการไหลแบบนอนนิวโตเนียน (non Newtonian fluid) ทำให้ยิ่งเคี้ยวอาหารหรือกลืนยิ่งคล่องคอ ไม่หนืดเหมือนน้ำลายเทียมแบบเดิมๆ

การสกัดจากกระเจี๊ยบเขียวยังให้ผลดีหลายต่อ นอกจากได้น้ำลายเทียมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกกระเจี๊ยบเขียวด้วย ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสในการทำตลาดแก่ชาวมุสลิม เพราะน้ำลายเทียมแบบเดิมๆ นั้นส่วนใหญ่สกัดมาจากกระเพาะหมู

ส่วนเงินรางวัล 50,000 บาทที่ได้รับจากการแข่งขันนั้น ทีม MH Fusion กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เพียงพอสำหรับการดันน้ำลายสู่ตลาด เพราะเงินทุนที่พวกเขาต้องการคือ 4 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแค่การทำตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่พวกเขายังมองเห็นอนาคตของตลาดขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยหวังก็เพียงจะมีนักลงทุนที่สนใจ










กำลังโหลดความคิดเห็น