สัญญาณไฟจราจรสีเขียวกลางแยกบนถนนราบเรียบราดยางมะตอยอย่างดีขนาดหกช่องทางสัญจรเริ่มกระพริบถี่ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม รถยนต์หลายคันที่อยู่ทางด้านหน้าเร่งเครื่องเพื่อ ให้สามารถข้ามแยกได้ทัน มีการขับเปลี่ยนทิศทางกันอย่างกระทันหัน แก่งแย่งเบียดแทรกพื้นที่แคบๆ โดยไม่มีการให้ไฟสัญญาณกันและกัน แต่เปล่าเลยทุกคันที่ผมเห็นว่าเร่งรีบไปติดค้างอยู่กลางแยกขวางเส้นทางจราจรของรถอีกฝั่งหนึ่ง และสุดท้ายก็ไม่มีใครสามารถที่ผ่านแยกนี้ไปได้
ผมมองดูแล้วช่างเป็นความวุ่นวายสับสนที่มีสาเหตุมาจากสิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยเสียด้วยซ้ำ ความเห็นแก่ตัว ความที่ไม่เคารพในกฎการจราจร ไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาหรือความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ความไม่ใส่ใจในความปลอดภัยของบุคคลรอบข้างที่ใช้เส้นทางสัญจรเดียวกันหรือแม้กระทั่งความปลอดภัยของตัวเอง นี่ยังไม่รวมความถึงรถจักรยานยนต์ทั้งหลายที่ขับขี่ (ท้าความตายอย่างบ้าคลั่ง) บนท้องถนนกลางมืองหลวง ผมทำได้แค่ถอนหายใจและคิดถึงช่วงเวลาที่เดินทางสัญจรอยู่ในผืนป่า ถนนดินเล็กๆ ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ขรุขระ โคลนเหลว และหนทางที่ลาดชัน ช่องทางจราจรมีเพียงช่องทางเดียวและอาจจะเล็กกว่านั้นในบางช่วง บางครั้งถนนที่ใช้อาจจะกลายสภาพเป็นลำห้วยเล็กๆ ในยามฤดูฝน ความยากลำบากและทุรกันดารเหล่านี้ทำให้หลายครั้งไม่อาจจะเรียกว่าถนนหนทางได้อย่างเต็มปาก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างออกไปจากการสัญจรในเมืองหลวงยิ่งนัก เพราะสิ่งที่ผมสัมผัสได้นั้น เรียกว่า “น้ำใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”
อย่างที่ทราบการเดินทางในป่านั้นค่อนข้างลำบาก การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ไปได้ถึงจุดหมาย ในช่วงทางที่คับแคบรถสองคันที่สวนทางกันก็ต่างพากันเบี่ยงเพื่อให้รถอีกคันวิ่งผ่านไปได้ ระหว่างสวนทางก็เปิดกระจกไต่ถามกันเรื่องเสบียงอาหารหรือจุดหมายปลายทางที่กำลังจะมุ่งไป บ้างก็บอกแจ้งข้อมูลของเส้นทางที่ผ่านว่ามีปัญหาหรือจะต้องเพิ่มความระมัดระวังที่จุดใด ถ้ารถคันไหนหรือใครประสบปัญหาก็หาหนทางช่วยหรือประคับประคองกัน แม้ในบางครั้งนั่นหมายถึงการกลับรถและวิ่งย้อนทางมากกว่าสิบกิโลเมตรเพื่อมาช่วยรถคันที่เสียหรือกำลังติดหล่ม ในบางครั้งอาจจะต้องใช้วินซ์เพื่อการดึง บางครั้งอาจจะต้องใช้ไม้มางัดล้อรถขึ้นจากหลุมที่เรียกว่า "การกระดี่รถ" เวลามากบ้างน้อยบ้างถูกใช้ไปในแต่ละครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากลำบากในแต่ละกรณี หลายครั้งถึงกับต้องหยุดประกอบอาหารหรือแม้กระทั้งพักค้างแรม แต่ทุกครั้งทุกคนจะช่วยเหลือกันด้วยความเต็มใจ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังโดยที่ไม่มีใครเกี่ยงงอน
เสียงแตรรถจากทางด้านหลังดังขึ้น เพื่อย้ำเตือนให้รถยนต์ที่ผมขับซึ่งเป็นคันแรกที่รอสัญญาณไฟจราจรเคลื่อนตัวออกไป แต่ผมยังคงหยดอยู่กับที่เนื่องจากสัญญาณไฟยังคงปรากฏเป็นสีแดงอยู่ เสียงแตรดังขึ้นอีกครั้งและอีกครั้ง คราวนี้คงจะมาจากรถยนต์ทางด้านหลังอีกหลายคัน ผมยังคงหยุดและไฟจราจรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รถยนต์ทางด้านหลังเริ่มเคลื่อนที่ออกทางด้านซ้ายผ่านรถของผมและฝ่าสัญญาณไฟจราจรที่บอกให้หยุดเพื่อเลี้ยวขวา บางคันที่ผ่านลดกระจกลงและไต่ถาม (อย่างไม่เป็นสุภาพชนที่อาศัยอยู่ ณ เมืองหลวงของประเทศอันยกยอกันเอาเองว่าซิวิไลส์) ในการไม่เคลื่อนรถของผม
ถ้าการพยายามปฏิบัติตามกฎการจราจรที่บัญญัติมาเพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนท้องถนนนั้น เป็นสิ่งที่ดูแปลกประหลาดและน่าชิงชัง แล้ว ณ ที่นี้ มันคงไม่ใช่ที่ของผม
เราทุกคนบ่นอยากได้ชีวิตที่ดี เราทุกคนบ่นอยากได้รับความปลอดภัยที่มากกว่า เราทุกคนบ่นอยากเห็นสังคมที่มีความสุข
ทั้งๆ ที่ผิดแต่ยังกระทำและทั้งๆ ที่ควรแต่ยังคงเพิกเฉย ทั้งๆ ที่รู้อยู่ในใจ
เสียงถอนหายใจดังขึ้น พร้อมกับการที่แป้นคันเร่งถูกเหยียบเบาๆ เพื่อให้รถยนต์ออกตัว เมื่อสัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีเขียว...
เกี่ยวกับผู้เขียน
ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ “ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน