xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยคาด “ปี๊บ” ไม่ใช่เหตุตึกไต้หวัน แต่เพราะออกแบบและใช้วัสดุไร้มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
นักวิจัย สกว.ตั้งโต๊ะวิเคราะห์แผ่นดินไหวไต้หวัน เบื้องต้นคาด "ออกแบบไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน-ใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ" เป็นสาเหตุตึกถล่มมากกว่าปี๊บยัดไส้ หวังประเทศไทยใช้เป็นบทเรียน แนะรัฐปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานการแถลงข่าว “ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวไต้หวัน: การปรับปรุงมาตรฐานโครงสร้างอาคาร” ซึ่งจัดขึ้นโดยฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. เพื่อเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า แผ่นดินไหว “มีนอง” (The Meinong) ที่เกิดในไต้หวันจัดเป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นและค่อนข้างอันตรายเพราะมีขนาดความรุนแรง 6.4 ความลึก 16.7 กิโลเมตรซึ่งอยู่ใกล้ผิวดิน ส่งผลให้เมืองไถ่หนานซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเพียง 30-50 เมตร ได้รับความเสียหายมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ๆ เพราะได้รับอิทธิพลจากการขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวโดยแอ่งดินตะกอนใต้เมืองไถ่หนาน

ความเสียหายจากการขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวโดยแอ่งดินตะกอนใต้ต่ออาคารสูงในลักษณะเดียวกันนี้ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง เผยว่า เคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในเม็กซิโกซิตี้ แม้ในครั้งนั้นอาคารสูงจะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางถึง 400 กิโลเมตร แต่ก็อาคารพังเสียหายมากมาย ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าแอ่งดินอ่อนเป็นจุดอันตรายสำหรับการสร้างตึกสูง เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กล่าวว่า การออกแบบโครงสร้างบนพื้นที่แผ่นดินไหวว่า ต้องใช้หลักพิจารณาจากกำลัง, ความเหนียว และเสถียรภาพ เพราะการพลิกคว่ำส่วนใหญ่เกิดจากฐานราก แต่กรณีในไต้หวันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากฐานรากหรือไม่

ทั้งนี้อาคารที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อสร้างในปี 2537 ก่อนจะมีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ในปี 2542 จึงมีแนวโน้มว่าไม่ได้มีการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว และล่าสุดที่มีการแพร่ภาพข่าวการใช้ “ปี๊บ” เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้าง กำแพงหรือพื้น จนทำให้สังคมเกิดคำถามว่าการใช้ปี๊บเป็นสาเหตุของการวิบัติหรือไม่นั้น คณะวิจัยเห็นตรงกันว่าประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักแห่งความเสียหายซึ่งวิเคราะห์จากรูปถ่ายได้มี 6 ข้อด้วยกันได้แก่

1.ความไม่ต่อเนื่องของโครงสร้างหลัก หรือการยึดระหว่างโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่าง
2.การไม่มีรายละเอียดการเสริมเหล็กต้านแผ่นดินไหว
3.การออกแบบหรือการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
4. การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง
5. การวิบัติของโครงสร้างบางส่วนอาจมีสาเหตุจากการวิบัติของฐานรากบนชั้นดินอ่อน
6. อาจเกิดการสั่นพ้อง (เรโซแนนซ์) ระหว่างอาคารและพื้นดิน

ศ.ดร.อมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิจัยให้น้ำหนักเรื่องปี๊บเป็นประเด็นรอง และต้องวิเคราะห์เพิ่มว่าเป็นชิ้นส่วนใด กำแพงหรือพื้นหรือคาน เป็นส่วนที่รับน้ำหนักหรือไม่ อย่างไรก็ตามพบว่าแทบไม่มีเหล็กเสริมในส่วนที่มีปี๊บ ถ้าเป็นกำแพงรับแรงเฉือนถือว่าผิดหลักทางวิศวกรรมอย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นผนังกั้นก็ไม่มีผล จากภาพสังเกตว่าตึกล้มคว่ำลงจึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นชิ้นส่วนพื้นหรือไม่ ซึ่งระยะเรียงของปี๊บมีความถี่มากอาจเป็นพื้นไส้กลวง (void slab) ซึ่งความหนาของผิวด้านบนต้องมากพอที่จะให้คอนกรีตรับแรงและด้านล่างต้องมากพอที่จะเสริมเหล็กที่แน่น ซึ่งจากภาพถ่ายพบว่าการเรียงของปี๊บด้านบนมีความหนาเพียงพอ แต่ด้านล่างมีการเสริมเหล็กน้อยมาก ปริมาณเหล็กเสริมค่อนข้างน้อย หากใช้เป็นโครงสร้างพื้นอาจไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่าเสาถูกบดอัด อาคารวิบัติแบบชั้นที่อ่อนแอ (soft-story) เหล็กเสริมตามขวางหายไปและไม่เพียงพอ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร การงอเหล็กที่ปลายไม่เหมาะสม เหล็กเสริมจะง้างออก ทำให้กำลังขององค์อาคารลดลงอย่างมาก

“เหตุการณ์ที่ไต้หวันเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าอาคารเก่าไม่ได้มาตรฐานถล่มได้ นำมาซึ่งการสูญเสีย จึงมีข้อเสนอว่าควรมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยบังคับอาคารที่มีความสูงไม่ถึง 15 เมตรในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย และเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าควรเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแก้ไขกฎหมายได้ตามความเหมาะสมเท่าที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเช่นเดียวกับการป้องกันอัคคีภัย รวมถึงการจัดหาแบบมาตรฐานสำหรับอาคารหลังเล็กในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ทั้งนี้อาคารโรงเรียนส่วนใหญ่มีแบบเดียวใช้กันทั่วประเทศ ต่างจากอาคารของเอกชนหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งหากผู้บริโภคที่ไม่ทราบเรื่องการเสริมแรงหรือการเสริมเหล็ก แต่ต้องการความมั่นใจก็จะต้องพิจารณาจากโครงสร้างมาตรฐานว่ามีใครเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรหรือไม่ ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพหรือไม่ ปัจจุบันอาคารสูงในกรุงเทพฯหลายพันแห่ง และบ้านเรือนหลายหมื่นหลังคาเรือน เชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้มาตรฐานเพราะก่อสร้างก่อนการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารปี 2550 แต่แผ่นดินไหวในประเทศไทยไม่เกิดขึ้นบ่อยและไม่รุนแรง จึงต้องอาศัยวิธีตรวจสอบและเสริมกำลังเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว” ศ.ดร.อมร กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหวมีความสัมพันธ์กับการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก โดยแผ่นดินไหวในไต้หวันครั้งใหญ่สุดมีขนาด 8.2 แต่เกิดนอกชายฝั่ง ส่วนครั้งสำคัญที่สร้างความเสียหายเกิดในปี 2542 มีขนาด 7.7 ทำให้อาคารเสียหายจำนวนมาก และในปี 2553 เกิดอีกครั้งขนาด 6.3 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน จึงมีสมมติฐานว่ามีโอกาสสะสมพลังงานบนแนวรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว และสะสมพลังงานมากพอที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อไป และมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อคได้นานถึง 2 ปี ทั้งนี้นักธรณีวิทยาได้ประเมินว่าบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเกิดขนาดมากกว่า 7 ในไต้หวันในอนาคต ส่วนประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6 ได้จากสถิติ

ส่วน รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวว่า หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองประกาศมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เมื่อปี 2552 ที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นหลายครั้ง จนก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบกับความรู้สึกของประชาชน ซึ่งปัจจุบันกรมฯ กำลังปรับปรุงมาตรฐานให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากคณะวิจัยของ สกว. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในปัจจุบัน

ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานได้มีการศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการปฏิบัติตามมาตรฐานเดิม การทบทวนมาตรฐานให้เหมาะสมกับมาตรฐานสากล การปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดการคำนวณตามมาตรฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความรุนแรงเพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลแผ่นดินไหว การปรับปรุงระดับค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่รวมผลเนื่องจากสภาพชั้นดินอ่อนในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งเรื่องความเสี่ยงของพื้นที่ย่อยที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงภัยแบบแบ่งเขตย่อยของแต่ละเมือง
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์









กำลังโหลดความคิดเห็น