แผ่นดินไหวอิตาลี-เมียนมาร์ไม่เกี่ยวกัน แต่เทียบเคียงแผ่นดินไหวที่เคยเกิดที่เชียงราย นักวิจัยชี้ไทยต้องศึกษาให้ชัดเพื่อรับมือได้ถูกต้อง
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยด้านแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนมีพลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.2 ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 24 ส.ค.59 ที่ผ่านมา ณ ตอนกลางของประเทศอิตาลี ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากแผ่นดินไหวทำให้พื้นดินมีการสั่นสะเทือนค่อนข้างรุนแรง
แผ่นดินไหวที่อิตาลีมีความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 8 ทำให้มีอาคารบ้านเรือนพังถล่มลงมาหลายหลัง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และผ่านมาไม่กี่ชั่วโมงในตอนเย็นวันเดียวกันก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ทางตอนกลางของประเทศเมียนมาร์ และส่งผลมาถึงประเทศไทย โดยเกิดการสั่นไหวของอาคารสูงหลายอาคารทั้งในจังหวัดภาคเหนือของไทยและกรุงเทพฯ สร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวทั้งสองที่มีผลต่อประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ดร.ภาสกรระบุว่าแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด อีกทั้งมีสาเหตุและลักษณะธรรมชาติของการเกิดที่แตกต่างกัน โดยแผ่นดินไหวที่อิตาลีเกิดจากการชนกันของแผ่นธรณีหลายแผ่นบริเวณแนวเทือกเขาแอล์ปในตอนกลางของอิตาลี (Apennines) ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวมุดตัวกันของแผ่นอนุทวีป Adria ที่มุดตัวไปใต้ แนว Apennines เกิดเป็นเทือกเขายาวตรงกลางขนานไปเกือบทั้งประเทศอิตาลี นอกจากนี้ทางด้านบนของอิตาลี ยังเป็นแนวชนกันของแผ่นทวีปแอฟริกากับแผ่นทวีปยูเรเซีย ทำให้มีลักษณะธรณีวิทยาที่ซับซ้อนมาก และมีแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง (5-6) เกิดขึ้นในแนวเทือกเขา Apennines นี้มาโดยตลอด โดยเมื่อปี 2552 บริเวณดังกล่าว ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่เมือง L'Aquila ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ในแนวเดียวกันกับแผ่นดินไหวครั้งนี้
"แผ่นดินไหวเมื่อ 7 ปีที่แล้วครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนและบาดเจ็บจำนวนมาก บ้านเรือนเสียหายอย่างมาก สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา รายงานว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดที่ระดับค่อนข้างตื้น มีความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร และเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนปกติในแนวเอียงที่วางตัวอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินไหวที่อิตาลีครั้งนี้มีขนาดเท่ากันกับแผ่นดินไหวที่เกิดที่เชียงรายเมื่อสองปีก่อน ความลึกใกล้เคียงกัน แต่ที่อิตาลีสร้างความเสียหายอย่างมาก ในขณะที่แผ่นดินไหวที่เชียงรายเสียหายน้อยกว่ามาก นับเป็นโชคดีที่แผ่นดินไหวเชียงรายอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร หากเกิดใกล้ตัวเมืองเชียงรายมากกว่านี้ ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่แผ่นดินไหวที่อิตาลีเกิดใกล้เมืองมาก โดยห่างจากเมืองเล็กๆ หลายเมืองที่อยู่ในหุบเขาตอนกลางของประเทศในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร ความเสียหายจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้เวลาที่เกิดแผ่นดินไหวก็มีส่วนสำคัญ โดยที่อิตาลีเกิดขึ้นประมาณตีสามครึ่งซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนนอนหลับอยู่ในบ้าน เมื่ออาคารพังถล่มลงมาจึงมีคนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่แผ่นดินไหวที่เชียงรายเกิดตอนเย็นจึงมีผู้ได้รับผลกระทบน้อยกว่า"
ส่วนแผ่นดินไหวในเมียนมาร์มีขนาดประมาณ 6.8 ที่ความลึกประมาณ 84 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ค่อนข้างลึกเกือบถึงขอบล่างสุดของแผ่นธรณี และเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนย้อนที่วางตัวในแนวตะวัตกเฉียงเหนือตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำมุมเกือบเป็นแนวดิ่ง แผ่นดินไหวทำให้พื้นดินมีการสั่นสะเทือนปานกลาง ความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 6 ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการชนกันของแผ่นอินเดียกับแผ่นยูเรียเชียทางทิศตะวันตกที่เกิดเป็นที่ราบสูงทิเบต ทำให้มีการสะสมความเค้นเกิดเป็นรอยเลื่อนจำนวนมากในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7-8 มาโดยตลอด ผลกระทบที่สำคญที่มาถึงประเทศไทยก็คือทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ จำนวนมากรู้สึกถึงการสั่นไหวในครั้งนี้ อันเป็นผลมาจากชั้นดินอ่อนและลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ประกอบกับการสั่นพ้องของอาคารสูง
"สำหรับประเทศไทยเองผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาสู่สังคมไทย คือ ความวิตกกังวลของประชาชน และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างมาก เพื่อจะได้มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ประเมินระดับอันตรายของแผ่นดินไหวในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง ร่วมกับการเตรียมพร้อมในภาคประชาชนและสังคม เพื่อลดการสูญเสียจากแผ่นดินไหวให้เหลือน้อยลง ประการสำคัญจากการศึกษาและข้อมูลที่มีอยู่บ่งชี้ว่าว่ามีรอยเลื่อนจำนวนมากที่วางตัวอยู่ใกล้หรือพาดผ่านเข้าไปในบริเวณเมืองใหญ่ของประเทศไทยหลายเมือง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษาให้ทราบว่ารอยเลื่อนเหล่านี้มีพลังและมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้หรือไม่ เพราะรอยเลื่อนที่วางตัวซ่อนอยู่เหล่านี้ถ้าวางตัวอยู่ใกล้ๆ เมืองหรือกลางเมืองใหญ่แล้วเกิดแผ่นดินไหว ความเสียหายจะรุนแรงอย่างมาก" ผศ.ดร.ภาสกรชี้ปัญหา
ด้าน รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม นักวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวที่ภาคกลางของประเทศพม่าใกล้กับเมืองชอคและเมืองพุกามซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญ ได้สร้างความเสียหายต่อวัดโบราณและเจดีย์หลายสิบแห่ง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเจดีย์จำนวนมากจนได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งทะเลเจดีย์” หรือ “ดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์” เจดีย์เหล่านี้คาดว่าถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 700 ปีในยุคที่อารยธรรมรุ่งเรือง และปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ส่งผลต่อจิตใจของประชาชนชาวพม่า แต่ยังส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจ
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานที่สร้างจากอิฐก่อและมีอายุยาวนานหลายร้อยปีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เกินความคาดหมาย เนื่องจากคุณสมบัติเชิงวิศวกรรมของวัสดุได้เกิดการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ซึ่งเปรียบเทียบได้โดยประมาณคือ คุณสมบัติด้านความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของอิฐ รวมถึงวัสดุประสานโบราณอาจมีค่าต่ำกว่าค่าของวัสดุคอนกรีตปัจจุบันกว่าหลายสิบเท่าตัว” นักวิจัย สกว.กล่าวทิ้งท้าย