“หมอนยางพารา ใครๆก็ทำได้ครับ ไปจ้างทำยังได้ แต่จะขายออกหรือเปล่า จะอยู่ได้นานหรือเปล่าเป็นเรื่องที่ต้องวัดกัน ซึ่งผมกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าหมอนยางพาราของผมเป็นเจ้าแรก และเป็นที่หนึ่งในตลาดเพราะหมอนของผมมาจากงานวิจัย และผมไม่เคยหยุดทำงานวิจัย” คำประกาศจากนักวิจัยผู้เป็นเจ้าของกิจการหมอนยางพารายักษ์ใหญ่ของไทยถูกเอ่ยออกมา ขณะพาทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องนอนอันกว้างขวางของบริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด ที่ตั้งอยู่ภายในตัวเมือง จ.ปัตตานี
ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้บริหารบริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตหมอนและเครื่องนอนจากยางพารามานานกว่า 30 ปี ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครคิดนำยางพารามาผลิตเป็นหมอนทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตเจ้าแรกในวงการเครื่องนอนยางพาราของไทย
ดร.ณัฐพงษ์ เผยว่า ในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการเครื่องนอนยางพารามานานทำให้เห็นกระแสการเกิดและดับของบริษัทจำนวนมาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บริษัทที่ล้มเหลวมีเหมือนกัน คือ การผลิตตามกระแสและขาดการวิจัย เพราะจุดขายของเครื่องนอนยางพารา คือ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นอนหลับสบายและดีต่อสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดต้องการการรองรับคุณภาพและพัฒนาด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ ที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของบริษัทฯ
“เราให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนามากที่สุด ดังจะเห็นได้จากเรามีฟองน้ำหลายแบบมาก มีหมอนหลายรูปทรงมาก เรามีผลิตภัณฑ์เยอะนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้เราวิจัยขึ้นมา ไม่ใช่วาดใส่กระดาษแล้วก็ทำได้เลย เพราะผมเชื่อว่างานวิจัยจะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขัน ทำให้สินค้าขายได้เพราะในเรื่องของคุณภาพใครก็มาลอกเลียนไม่ได้ ทุกวันนี้เราผลิตเครื่องนอนออกมาเป็นเรือธง 2 แบรนด์ได้แก่ ออริจินัล (Original) ที่เป็นสินค้าโดยตรงจากห้องแล็บ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ และพาเท็กซ์ (Patex) สำหรับตลาดทั่วไปทั้งในและต่างประเทศซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ในปีที่ผ่านมาเรามียอดขายที่ประมาณ 300 ล้านบาท และมีการใช้น้ำยางสดประมาณ 500 ตันต่อเดือน”
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดร.ณัฐพงศ์ เผยว่า ยังได้วิจัยร่วมกับ สกว.ยางพาราในหลากหลายหัวข้อ ทั้งการศึกษาปัจจัยต่อการรับแรงของฟองยางธรรมชาติทำให้เครื่องนอนนุ่มนอนสบาย รับแรงกดทับได้ดี, การศึกษากลไกการแห้งของฟองยางที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีขาวนวลน่าใช้, การควบคุมความแข็งของฟองยางที่ทำให้เนื้อสัมผัสมีความนุ่มเด้งแตกต่างจากหมอนแบรนด์อื่น, การวิจัยเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำให้แห้งจากการอบลมร้อน เป็นการอบแห้งด้วยไมโครเวฟที่จะทำให้ได้ยางที่มีสีขาว ไม่เหลือง ไปจนถึงการวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือวัดความแข็งในไลน์ผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังไม่นับรวมกับงานวิจัยเพื่อผลิตหมอนเจลรับแผลกดทับ, ฝาเครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำจากยางพาราที่ได้รับทุนจากภาคส่วนต่างๆ และลงทุนด้วยตัวเอง
“ตอนนี้เรามีออเดอร์เฉพาะหมอนประมาณ 80,000 ใบต่อเดือน ซึ่งทำไม่ทัน ขยายกำลังการผลิตก็ยังทำไม่ทันเพราะตลาดจีนสนใจมากคิดเป็นสัดส่วน 60% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งมันส่งผลดีไปถึงสวนยางในละแวกโรงงานประมาณ 3,000-5,000 ไร่ แต่จริงๆ แล้วถ้าเทียบแล้วหมอนของผมไม่ได้ใช้น้ำยางมากเลยนะ ใช้ยางน้อยแค่ 30-40% เท่านั้น ที่เหลือคือส่วนของเทคโนโลยีจากงานวิจัย เพราะผมมองว่าการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบมันสำคัญกว่า มันหมดยุคที่จะมาขายน้ำยางแบบเดิมๆ แล้ว เราถึงจะเป็นประเทศที่พัฒนาได้”ดร.ณัฐพงษ์กล่าว