xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนดู "ยางแปรรูป" เพิ่มมูลค่าจากงานวิจัยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจาก ทีมข่าวภูมิภาค)
ในขณะที่ราคายางพารายังคงตกต่ำ ความพยายามในการแปรรูปยางธรรมชาติทั้งในรูปผลิตภัณฑ์และเพิ่มการใช้งานภายในประเทศ เป็นอีกหนทางที่จะเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าการเกษตรนี้ ที่ผ่านมามีงานวิจัยไทยจำนวนหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมผลงานที่น่าสนใจมานำเสนออีกครั้ง
ชาวบ้านกำลังพ่นน้ำยางลงบนผ้าใบเพื่อเคลือบพื้นสระ (ขอบคุณภาพจาก สกว.)
เริ่มจากโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่จัดทำโครงการต้นแบบการผลิตน้ำยางข้นจากกระบวนการครีมมิ่งในระดับอุตสาหกรรมและต้นแบบการประยุกต์ใช้งานในการทำน้ำยางเคลือบสระน้ำและสายยางยืด
ชาวบ้านกำลังพ่นน้ำยางลงบนผ้าใบเพื่อเคลือบพื้นสระ (ขอบคุณภาพจาก สกว.)
ผศ.ดร.อดิศัย เผยว่า โครงการน้ำยางเคลือบพื้นสระที่พัฒนาขึ้นขณะนี้ประสบผลสำเร็จและถูกนำไปขยายผลใช้จริงในหลายพื้นที่ตามลำดับ เช่น ในปี 2552ได้ลงพื้นที่เคลือบน้ำยางพื้นสระให้กับองค์การสวนยางบ้านนาบอน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 6 ปีสระก็ยังสมบูรณ์ใช้งานได้ดี ในปี 2553 ได้นำไปเคลือบพื้นสระให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา จ.ปัตตานี 

ส่วนปี 2554ได้มีการขยายผลสร้างความร่วมมือกับ บริษัท ยูเอส บ่อทอง จำกัด จ.ชลบุรี ในการนำน้ำยางไปปูพื้นบ่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรมยางขนาดบ่อ 10x15x2 เมตร และในปี 2558 ได้ดำเนินการสร้างบ่อเก็บกักน้ำในพื้นที่สูง ที่ อ.งาว จ.ลำปางซึ่งมีความสูงประมาณ 800-900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยนำน้ำยางครีมมี่ไปปูพื้นบ่อขนาด 20x20x3.5 เมตรจำนวน 3 บ่อเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภค 

ผลดำเนินการและการลงพื้นที่ตรวจตราผลสัมฤทธิ์ของบ่อ ผศ.ดร.อดิศัยพบว่าส่วนใหญ่ใช้งานได้เรียบร้อยดี เว้นแต่บ่อในพื้นที่เกาะบุโลน จ.สตูล ที่ในช่วงแรกเก็บน้ำได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับเกิดดินไสลด์จนทำให้ผืนผ้าใบที่รองก้นบ่อฉีกขาด แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ข้อเสียของน้ำยางที่วิจัย
น้ำยางคอมปาวด์ (ขอบคุณภาพจาก สกว.)
"วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางได้สูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการนำน้ำยางพาราไปใช้ในปริมาณที่มากขึ้น เพราะบ่อน้ำขนาด 10x20x2.5 เมตร จะใช้ปริมาณน้ำยางประมาณ 2 ตันหรือเฉลี่ยการใช้น้ำยางแห้งตารางเมตรละ 1 กิโลกรัม ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนได้มากกว่าการสารใช้สารเคมีอื่นๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อปูพื้นสระ" ผศ.ดร.อดิศัยกล่าว

นักวิจัยจาก มอ.ปัตตานียังได้เผยเพิ่มเติมว่าขณะนี้ได้หยุดพัฒนาสูตรน้ำยางครีมมี่สำหรับปูพื้นบ่อแล้ว เพราะวิจัยจนมั่นใจว่าสูตรที่ใช้มีประสิทธิภาพสูงสุด และได้จดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายมาติดต่อเพื่อรับช่วงต่อในการนำน้ำยางไปผ่านกระบวนการผลิต เพื่อจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้บ่อพื้นบ่ออีกรอบหนึ่ง อาทิ วิสาหกิจชุมชนสายบุรี จ.ปัตตานี และ บริษัท ไทยอีสเทิร์น จำกัด
ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์  ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
"ไม่นับรวมผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาชนลาว และประเทศพม่าที่ติดต่อเข้ามาพอขอทดลองใช้เทคโนโลยี แต่ไม่ได้เดินทางไปทำให้เพราะนักวิจัยมีทีมงานในการลงพื้นที่ในระยะทางไกลไม่เพียงพอ การนำน้ำยางที่ผ่านกระบวนการครีมมี่มาใช้เป็นวัสดุปูรองเคลือบบ่อน้ำ เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำและล้นตลาดได้ดี และยังเป็นการนำยางพาราไปแก้ปัญหาภัยแล้งในที่อื่นๆ ด้วย" ผศ.ดร.อดิศัย

ด้าน ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ในส่วนของ วว. มีการนำน้ำยางมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ “ถุงมือผ้าเคลือบน้ำยาง” สำหรับใช้ใส่ห่อหุ้มมือเมื่อต้องทำงานเสี่ยงเช่น การทำสวน การโยน-รับทุเรียน หรือการทำงานที่ต้องออกแรงมาก โดยเริ่มคิดค้นสูตรน้ำยางและนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ครั้งแรกในปี 2557 

จากนั้นจึงขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการชาวบ้านในสวน จ.สุราษฎร์ธานี โดยการลงพื้นที่ให้ความรู้ตั้งแต่การปรุงสูตรน้ำยางไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนการทำถุงมือปกติอยู่ที่ประมาณ 10 บาท แบ่งเป็นค่าถุงมือผ้าคู่ละ 5 บาท ค่าน้ำยาง 1 บาท ค่าถุง ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่ง 4 บาท ในขณะที่ถุงมือผ้าเคลือบน้ำยางสามารถขายได้คู่ละ 25 -35 บาทเลยทีเดียว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ดร.ชุติมา ยังเผยอีกว่า ในปีนี้ยังมีแผนที่จะขยายผลไปยัง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนบก อ.น้ำโสม จ.อุดรธานีด้วยเพราะจากการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพาราเมื่อช่วงปลายปี 2558 ทำให้ทราบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนบกเป็นแหล่งรับซื้อยางพาราในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง มีสมาชิก 200-300 คน ที่สนใจในการเพิ่มคุณค่าผลผลิตยางพารา

"ในขั้นแรกวางเป้าหมายการทำถุงมือไว้เพื่อใช้เอง ลดการซื้อเพราะถุงมือผ้าเคลือบน้ำยางเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องใช้อยู่แล้วในการทำเกษตร โดยในอนาคตจะขยายผลต่อไปเรื่อยๆ อีกตามหมู่บ้านแม่ข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ" ดร.ชุติมากล่าว

นอกจากนี้ ดร.ชุติมา ยังเผยอีกว่า ในอนาคตอันใกล้ วว.จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากยางพาราชนิดใหม่ในรูปของ “โฟมยาง” จากผลงานการพัฒนาของฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว.ที่พยายามนำน้ำยางพารามาแปรรูปผ่านกรรมวิธีต่างๆ ให้เป็นหมอน หรือฟูกที่นอนที่มีความยืดหยุ่นทนทาน โยจะมีโครงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการภายในครึ่งปีแรกนี้
ดร.อรสา อ่อนจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ วศ.
ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีการวิจัยและแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เช่นกัน โดยเป็นการนำไปสร้างพื้นลู่ ลานกรีฑาในสนามกีฬา และลานอเนกประสงค์

ดร.อรวรรณ ปิ่นประยูร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ วศ.กล่าว พื้นลู่ลานกรีฑาเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ วศ.ดำเนินงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี เดือน ธ.ค. 2557 จนถึงขณะนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑาสนามกีฬาและลานอเนกประสงค์โดยใช้ยางธรรมชาติ ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยางและกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา

แบ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ เทคโนโลยีการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สำหรับสนามกีฬาหรือลานอเนกประสงค์ และเทคโนโลยีการผลิตเม็ดยางเพื่อนำไปใช้ในการสร้างพื้นลู่ลานกรีฑา โดยมีจำนวนผู้เข้าฝึกอบรมทั้งสิ้น 178 คนจาก 62บริษัท และผลการประเมินผู้เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีพบว่าสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ถึง 93%
วิธีทำพื้นลู่-ลานกีฬาจากยางพารา ผลงานวิจัยจาก วศ.
ทั้งนี้ วศ.ได้สำรวจกำลังผลิตเม็ดยางสำหรับใช้ทำพื้นสังเคราะห์จากผู้ประกอบการยางที่มีความพร้อมและเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีพบว่ากำลังผลิตอย่างน้อย 966 ตันต่อเดือน  ซึ่งสามารถสร้างลู่ลานกรีฑาได้ประมาณ 21 สนามต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 420 ล้านบาทต่อเดือน
ยางล้อตันประหยัดพลังงานสำหรับรถโฟล์คลิฟต์
ด้าน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการทำวิจัยต่อยอด “ล้อยางตันประหยัดพลังงานสำหรับรถโฟล์คลิฟต์” มาตั้งแต่ปี 2550 โดยการดำเนินงานของ ผศ.ดร.กฤษฎา สุชีวะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพัฒนากับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมุ่งปรับปรุงสูตรยางผสมสารเคมีและเพิ่มเทคนิคการออกแบบยาง

ในการออกแบบยางได้ปรับเพิ่มอันตรกิริยาระหว่างยางกับสารตัวเติมเสริมแรงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาให้ยางล้อรถฟอร์คลิฟต์ทำงานได้ดีและประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยข้อมูลวิจัยล่าสุดเมื่อปลายปี 2557ที่ทีมข่าวฯ ได้รับระบุว่า ล้อยางตันที่ผลิตได้ มีคุณภาพดีเทียบเท่าแบรนด์ระดับโลกและได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการต่างประเทศหลายๆ แห่งด้วยกัน
งานวิจัยยางล้อตันฯ ได้รับเลือกให้เป็นผลงานวิจัยดีเด่น สกว.ประจำปี 2556
นอกจากนี้ยังมีผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้และสถาบันการศึกษาทางภาคใต้เกี่ยวกับยางพาราอีกหลายชิ้น เช่น ผลงานแผ่นหนุนสะโพกจากยางพาราป้องกันคนแก่กระดูกหัก ของ รศ.ดร.วิริยะ ทองเรือง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่คิดค้นสูตรน้ำยางพาราสำหรับทำเป็นแผ่นกันกระแทกความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา กระชับสรีระ รองรับแรงกระแทกได้ถึง 3,500 นิวตันสำหรับใส่คู่กับแผ่นรัดสะโพกเพื่อป้องกันผู้สูงอายุกระดูกหักเมื่อมีการลื่นล้ม

"ในขณะนี้ได้ขยายผลนำไปใช้ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้วเรียบร้อย ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องนำเข้าแผ่นกันสะโพกกระแทกจากต่างประเทศอีกต่อไป เพราะแผ่นกันกระแทกที่นักวิจัยไทยทำได้มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าและยังมีราคาถูกกว่าถึง 30%" รศ.ดร.วิริยะกล่าว
แผ่นหนุนสะโพกกันกระดูกหัก ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นอกจากนี้ เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค.58 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ได้นำงานวิจัยด้านยางพารารวมถึงผลงานวิจัยของผู้ประกอบการเอกชนที่ถูกนำไปต่อยอดแล้วทั้งหมดอีกหลายชิ้น จัดแสดงในงานมหกรรมนวัตกรรมไทยภาคใต้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่ >> สำรวจนวัตกรรมด้ามขวานเพื่ออุตสาหกรรมยางเข้มแข็ง
แผ่นเสริมส้นรองเท้า
ถุงทวารเทียม
สีเพ้นท์ผ้าจากยางพารา
สวนยางพารา (ภาพจาก ทีมข่าวภูมิภาค)









กำลังโหลดความคิดเห็น