แม้ประเทศไทยจะมีหน่วยงานที่ดูแลด้านชลประทาน และมีมาตรการบริหารจัดการน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาภัยแล้งกลับไม่เคยห่างหาย โดยเฉพาะปีนี้ที่เป็นปีแห่ง “ซูเปอร์เอลนีโญ”เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะไม่มีน้ำใช้สำหรับการผลิตพืชผลการเกษตร
SuperSci สัปดาห์นี้จะพาทุกคนมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ถึงแนวทางการทำเกษตรแบบชาญฉลาดและวิธีการรับมือกับภัยแล้ง กับนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการด้านระบบการให้น้ำ, การฟื้นฟูดิน และการให้อาหารพืชอย่าง รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ (Associate Professor Dr.Naftali Lazarovitch) จากสถาบันเบน-เกอเรียล แห่งมหาวิทยาลัยเนจีฟ ประเทศอิสราเอล ประเทศที่ทั่วโลกยกย่องว่ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง ในโอกาสที่เขาได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการ ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ กล่าวว่า ก่อนที่คิดจะสู้ภัยแล้งนั้น สิ่งแรกที่จำเป็นที่สุดคือการศึกษาเพื่อให้ทราบว่าทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในประเทศ อยู่ที่ใดบ้าง ต้องระบุตำแหน่งให้ชัดเจน แล้วจึงศึกษาต่อว่าน้ำในที่แห่งนั้นมีคุณภาพอย่างไร และมีอยู่เป็นปริมาณเท่าไร จึงค่อยวางแผนบริหารจัดการ
ในประเทศอิสราเอลมีแหล่งน้ำหลายแหล่งทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินซึ่งล้วนแต่สำคัญทั้งสิ้นเพราะในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนน้อย จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นคนอิสราเอลใช้น้ำสองครั้ง เช่น หลังจากดื่มน้ำเสร็จก็ย่อมมีการขับถ่าย พอขับถ่ายเป็นของเหลวเป็นน้ำในส้วมก็จะนำมาบำบัดเพื่อทำนำ้รดผัก
อีกเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้มีน้ำจืดใช้มากขึ้น รศ.ดร.นัฟตาลี ระบุว่าเป็นการนำน้ำทะเลมาดึงเกลือออกให้เป็นน้ำจืด เพราะอิสราเอลมีทะเล ที่น้ำทะเลมีความเข้มข้นของเกลืออยู่พอสมควร ซึ่งเสียข้อสำคัญคือการผลิตน้ำด้วยเทคโนโลยีเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เงิน ทั้งชาวนา ชาวไร่ โรงงาน หรือคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลจึงต้องเสียเงินเพื่อซื้อน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุที่อิสราเอลไม่สามารถทำการเกษตรแบบใช้น้ำพร่ำเพรื่อได้ วิธีที่ดีและนิยมใช้มากถึง 70% จึงเป็นการใช้ “ระบบน้ำหยด” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อิสราเอลคิดค้นขึ้นมา และไม่ได้เป็นเพียงแค่การรดน้ำแต่ยังเป็นการใส่ปุ๋ยลงไปด้วย ซึ่งเป็นผลดี เพราะสามารถคำนวณได้แน่นอนว่าต้องจะใส่ปุ๋ยประเภทใด ปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับพืชนั้นๆ
การให้น้ำผ่านระบบหยดนี้ทำให้เกิดการใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากระบบชลประทานน้ำหยดไม่ใช่การหยดน้ำลงหน้าดินแต่เป็นการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายท่อแทงลงในดินทำให้น้ำหยดลงไปได้ในแนวตรง ทำให้พืชสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
“เราต้องอนุรักษ์น้ำ เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก เราต้องอนุรักษ์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเก็บแหล่งน้ำไว้ให้คนรุ่นต่อไป ดังนั้นเราจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด คือใช้ให้น้อยที่สุดที่ทำให้ปลูกพืชได้คุณภาพและได้ปริมาณผลผลิตดีที่สุด ท้ายสุดนี้ผมหวังว่าประเทศไทยจะมีวิธีการให้น้ำพืชอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใ่ช้ใช้แบบตักราดเยอะๆ ซึ่งผมตกใจมาก ผมเข้าใจว่าระบบชลประทานน้ำหยดนั้นต้องลงทุนไม่ใช่น้อย แต่เชื่อเถอะครับว่าต่อไปมันจะคุ้มแน่ๆ” รศ.ดร.นัฟตาลีกล่าว