xs
xsm
sm
md
lg

"ชลประทานน้ำหยด" วิธีรับมือแล้งสไตล์อิสราเอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์  (Associate Professor Dr.Naftali Lazarovitch)
เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ประเทศที่เป็นทะเลทรายกว่าครึ่งและขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้งอย่าง "อิสราเอล" กลายเป็นผู้ผลิตพืชอาหารเลี้ยงปากท้องคนสหรัฐฯ และยุโรปได้ปีละมหาศาล ในวาระที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากอิสราเอลเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อบรรยายถึงแนวทางด้านการจัดการน้ำอันชาญฉลาด ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงขออาสาเก็บเกี่ยวแนวเทคโนโลยีที่น่าสนใจอย่าง "ระบบชลประทานน้ำหยด" ที่ใช้น้ำน้อยแต่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ถึง 95%

“อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ เรามีฝนตกน้อยมากและอีกเกือบครึ่งเป็นทะเลทราย ถ้าให้เทียบกันประเทศไทยถือว่าโชคดีกว่ามากครับในเรื่องของธรรมชาติ” รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองชลประทาน สัญชาติอิสราเอล กล่าวอย่างเป็นกันเองกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ขณะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ (Associate Professor Dr.Naftali Lazarovitch) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการให้น้ำ, การฟื้นฟูดิน และการให้อาหารพืช จากสถาบันเบน-เกอเรียล แห่งมหาวิทยาลัยเนจีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกกลาง มีพื้นที่ประมาณ 20,770 ตารางกิโลเมตร อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศสูงคือมีทั้งภูเขา, ทะเลทราย และทะเลสาบเดตซีอันเลื่องชื่อ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง 20-50 นิ้ว รัฐบาลของประเทศอิสราเอลจึงให้ความสำคัญด้วยการทุ่มงบประมาณมากกว่า 4% ของรายได้มวลรวมของประเทศ ไปกับการวิจัยพื้นฐานและประยุกต์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการบริหารและจัดการน้ำของประเทศ

รศ.ดร.นัฟตาลี กล่าวว่า ประเทศอิสราเอลมีรูปร่างแคบและยาวคล้ายกับลิ่ม ภาคเหนือของประเทศเป็นพื้นที่สูง มีความอุดมสมบูรณ์ ด้านตะวันออกของประเทศเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเดตซีซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ต่ำจากระดับน้ำทะเลที่สุดในโลก และทางใต้ของประเทศเป็นทะเลทรายอันแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำ ไม่สามารถทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพใดๆ ได้ รัฐบาลจึงดำเนินการเชื่อมน้ำจืดเข้าด้วยกัน ด้วยการต่อท่อใต้ดินรวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อนำน้ำจืดจากทางเหนือลงมาทางใต้ทำให้ทะเลทรายมีแหล่งน้ำ ประกอบกับการทำฝนเทียม, การกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล ควบคู่กับนโยบายใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการนำน้ำที่ใช้แล้ว มาบำบัดใช้ซ้ำสำหรับการชักโครก การชำระล้างและการเกษตร

"ประเทศเราไม่ค่อยมีน้ำ แถมยังเล็กมาก ไทยน่าจะใหญ่กว่า 25 เท่า ที่สำคัญคือเราไม่ถูกกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างอย่างเลบานอน, ซีเรีย, จอร์แดน และอียิปต์ทำให้เราต้องพึ่งพาตัวเองทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งไม่เช่นนั้นเราก็จะอดตาย แต่โชคดีที่เราทำได้ เรามีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างชาญฉลาดโดยการใช้ระบบน้ำหยดและการพ่นน้ำแบบฝอย จนทุกวันนี้อิสราเอลเลี้ยงตัวเองได้ และยังเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตสินค้าการเกษตรส่งขายสหรัฐฯ และยุโรป"

รศ.ดร.นัฟตาลี เผยว่า ระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) เป็นระบบที่เกษตรกรชาวอิสราเอลกว่า 70% เลือกใช้ เกิดจากการประกอบกันระหว่างคำ 2 คำ คือ Fertilization ที่แปลว่าปุ๋ย และคำว่า Irigation ที่แปลว่าการให้น้ำ เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายโดยรวมว่าการให้ธาตุอาหารแก่พืชผ่านระบบการให้น้ำ โดยระบบชลประทานแบบน้ำหยดนิยมใช้กับการปลูกแอปเปิ้ล, ทับทิม, พริกหวาน, มะเขือเทศ, ส้ม, มันฝรั่งและอินทผาลัม ผลิตผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกล้วยที่นิยมในเรือนกระจกทางตะวันตกของประเทศ ส่วนอีก30% ที่เป็นการให้น้ำผ่านระบบสปริงเกิลจะนิยมใช้กับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ต้องการความประณีตในการปลูก

เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบชลประทานแบบน้ำหยด กับการรดน้ำทั่วไปที่คนไทยคุ้นเคย รศ.ดร.นัฟตาลี ระบุว่า พืชที่มีการให้น้ำแบบระบบน้ำหยดสามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้ถึง 95% ของปริมาณน้ำที่ให้ ในขณะที่การให้น้ำแบบทั่วไปพืชสามารถดึงน้ำมาใช้ได้เพียง 50% ระบบชลประทานน้ำหยดจึงเป็นที่นิยมมากในประเทศที่ขาดแคลนน้ำอย่างอิสราเอล แต่สถิตินี้ รศ.ดร.นัฟตาลี ระบุว่าอาจใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ เพราะประสิทธิภาพของการชลประทานแบบน้ำหยดต้องขึ้นกัองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น พันธุ์พืชและลักษณะของดิน ซึ่งผู้ที่จะนำระบบนี้ไปใช้ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์ทำให้คนทั่วโลกนิยมเดินทางไปดูงานด้านการจัดการน้ำและการเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่นักวิจัยไทยจาก สวทช. ที่ในขณะนี้ได้นำเทคโนโลยีน้ำหยดกลับมาใช้ที่ จ.น่านแล้วระยะหนึ่ง

นางวิศรา ไชยสาลี นักวิชาการหน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า เมื่อปี 2554 เธอได้รับทุนมาชาร์ฟ ( MASHAV) ของสถานฑูตอิสราเอลผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ในหลักสูตร Agri-Green Management : Agri-Environmental Consideration under Climate Changes ไปฝึกอบรมที่อิสราเอลเป็นเวลาประมาณ 25 วัน ซึ่งหลังกลับมาได้นำความรู้และประสบการณ์จากการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน มาถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและปรับใช้ในพื้นที่ปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธอดูแลอยู่

นางวิศรา เผยว่า ตลอดการดูงานที่อิสราเอล เธอได้เรียนรู้การจัดการ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภครวมถึงการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์, การทำเกษตรแบบผสมผสาน การจัดการแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี และระบบการควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management,IPM) และสุดท้ายคือ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะและการจัดภูมิทัศน์พื้นที่ทิ้งขยะ ซึ่งเธอได้รวบยอดความรู้ทั้งหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ อ.บ่อเกลือ ใน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนาอาชีพการเกษตรหลังการทำนา ด้วยการส่งเสริมการปลูกข้าวสาลีเพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อย ต้องการความเย็น เหมาะกับดินทางภาคเหนือ และขายได้ราคา ส่วนที่สอง คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการป่าชุมชนที่จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นตู้กับข้าวใหญ่ที่ใครๆ ก็สามารถมาใช้ประโยชน์

“ระบบชลประทานน้ำหยดเป็นเรื่องทีมองว่า ค่อนข้างเป็นไปได้และน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเทศไทย แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้นำมาใช้เพราะอุปกรณ์ค่อนข้างราคาสูง และเราต้องศึกษาก่อนว่า พื้นที่แบบใดของประเทศไทยที่เหมาะสมกับการใช้ระบบนี้ เพราะดินของไทยและอิสราเอลไม่เหมือนกัน คำว่าแล้งของเขากับของเราก็ไม่เหมือนกัน จึงไม่ใช่ว่าเห็นดีงามแล้วจะนำมาใช้ได้เลย ยังคงต้องศึกษาต่อ แต่ที่ตอนนี้เรานำมาปรับใช้คือการเลือกพันธุ์พืชให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ก็คือการปลูกข้าวสาลีซึ่งได้ผลดีมาก และเรากำลังจะสนับสนุนเรื่องการทำตลาด ส่วนเรื่องระบบชลประทานน้ำหยดเร็วๆ นี้ทางสวทช. ก็จะร่วมมือกับทางผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลไปเปิดคอร์สนำร่องแก่ผู้สนใจที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง แต่จะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต” นักวิจัย สวทช.กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
รศ.ดร.นัฟตาลี บรรยายเรื่อง Water, solute, and heat movement in the root zone: From measurements and models towards optimizing irrigation scheduling
บรรยากาศการสัมมนา สัมมนาTechnologies for agriculture in dryland: Case study from Israel จัดขึ้นที่ห้องประชุมไบโอเทค สวทช. จ.ปทุมธานี
นางวิศรา ไชยสาลี









กำลังโหลดความคิดเห็น