เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2010 ที่กรุง Rio de Janeiro ของบราซิล ได้มีนักวิทยาศาสตร์และนักสาธารณสุขศาสตร์ 260 คนจากทั่วโลกมาประชุมกัน เพื่อฉลองวาระครบรอบ 3 ทศวรรษแห่งการกำจัดฝีดาษจนหมดโลก ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นความสำเร็จทางสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังจากที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้เพียรพยายามต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้มานานประมาณ 20 ปี และหลังจากที่ฝีดาษได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปนับร้อยล้านคน นับตั้งแต่อดีตอันยาวนานที่ผ่านมา
ความสำเร็จในการกำจัดฝีดาษเกิดจากความสามารถ ผนวกกับความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างต่อเนื่องของกองทัพนักรบฝีดาษจำนวนนับหมื่นนับแสนคน ซึ่งในบางเวลาได้รู้สึกหมดหวังและท้อแท้ จนหลายคนท้อถอย เพราะคิดว่า ความพยายามทั้งหลายที่ได้ทุ่มเทไปคงไร้ผล และไม่มีใครสามารถจะตอบได้อย่างมั่นใจว่า มนุษย์จะต้องพยายามอีกเพียงใดจึงจะเพียงพอ แต่เมื่อความสำเร็จในการกำจัดฝีดาษเกิดขึ้นแล้ว โลกจึงมีโครงการจะกำจัดโรคระบาดชนิดต่อไป เช่น โรค Sars, โรคหัด (measles), โรค lymphatic filariasis (เท้าช้าง), โรค dracunculiasis, โรค river blindness และโรค malaria ฯลฯ เพราะมีความเห็นว่าโรคเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่จะถูกกำจัดให้สิ้นโลกได้
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำปี 1986 ได้แถลงว่า จะต้องกำจัดโรคพยาธิ guinea worm หรือ dracunculus medinensis ที่ทำให้ร่างกายพิกลพิการและอัปลักษณ์ให้หมด แม้แพทย์จะมีรายงานการพบคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่ปี 1626 แต่กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีคนที่เป็นโรคชนิดนี้อีกปีละ 2-3 พันคน โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย และซูดานตอนใต้ในแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกคุกคามด้วยโรคนี้มากที่สุด
ความสำเร็จในการกำจัดฝีดาษตั้งแต่ปี 1988 ได้ชักนำให้องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าว่าโปลิโอ (polio) จะเป็นโรคระบาดชนิดต่อไปที่จะถูกกำจัดให้หมดภายในปี 2000 แต่ก็ได้พบว่าแม้ถึงปี 2011 โลกก็ยังมีคนที่ป่วยเป็น polio อยู่ 89 ราย
โรคชนิดนี้เกิดจากไวรัสโปลิโอชนิดที่ 1 และ 3 ซึ่งแพทย์ได้พบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1604 ปัจจุบันแม้จำนวนผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเพราะโปลิโอได้ลดจำนวนลงมากแล้ว คือน้อยกว่า 2,000 คน/ปี แต่การมีผู้ป่วยอยู่ก็แสดงว่า เชื้อโปลิโอยังมีอยู่ และยังแพร่ระบาดทั้งในแอฟริกาและ Tajikistan ซึ่งการระบาดนี้ทำให้ปี 2000 ที่ WHO เคยกำหนดในแผนว่าจะกำจัดให้ได้ ต้องเลื่อนเวลาออกไปอีก แต่ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่าจะสามารถกำจัด polio ได้เมื่อใด เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้ว การควบคุมและติดตามการระบาดของโปลิโออย่างระมัดระวังและรอบคอบทำให้โปลิโอไม่ระบาด แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทุ่มเทเงินงบประมาณเพื่อกำจัดโรคนี้ เพราะโรคอื่นๆ เช่น เอดส์ วัณโรค และมะเร็งก็มีคนป่วยจำนวนมาก และต้องการเงินในการรักษาพยาบาลมากเช่นกัน
เมื่อความคุ้มค่า และผลกระทบทางเศรษฐกิจของกระบวนการกำจัดโปลิโอเข้ามาเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนั้นการประชุมขององค์การอนามัยโลกที่เมือง Frankfurt am Main ในเยอรมนีเมื่อปี 2010 จึงมีมติให้ทุกประเทศวางแผนกำจัดโปลิโออย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อจะได้มีเงินงบประมาณดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งโปลิโอหมดโลก และที่ประชุมคาดหวังว่าเมื่อโครงการนี้ลุล่วง ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายจะมีระบบการสาธารณสุขที่ดีขึ้น และจะสามารถคงระดับของการมีคุณภาพได้ตลอดไปในอนาคต
สำหรับโรคมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากเชื้อ Plasmodium spp. ที่ได้ทำให้ผู้คนล้มป่วยถึง 225 ล้านคนในปี 2009 นั้น อภิมหาเศรษฐี Bill Gates กับภรรยาได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันกำจัดให้สิ้นโลกตั้งแต่ปี 2007 ทั้งๆ ที่โครงการกำจัดมาลาเรียด้วยการฉีด DDT ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1955 แต่ฝันนั้นก็ต้องสลาย เพราะยุงที่ได้รับการฉีด DDT ได้พัฒนาจนระบบภูมิคุ้มกันในตัวจน DDT ทำอะไรมันไม่ได้ ดังนั้นการฉีด DDT จึงไม่สามารถฆ่ายุงได้อีกต่อไป ยิ่งเมื่อนักนิเวศวิทยาได้พบอีกว่า DDT เป็นพิษและเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ความบกพร่องและข้อเสียนี้ทำให้โครงการใช้ DDT กำจัดมาลาเรียต้องล้มเลิกไป มาลาเรียจึงยังระบาดต่อไป และนักระบาดวิทยาทุกวันนี้มีความเห็นพ้องกันว่า โลกคงต้องคอยอีกหลายปี มาลาเรียจึงจะถูกกำจัดจนหมดสิ้น
ความแตกต่างระหว่างความสำเร็จในการกำจัดฝีดาษ กับความล้มเหลวในการกำจัดโปลิโอและมาลาเรีย คือ แพทย์ปัจจุบันมีวัคซีนฝีดาษที่มีประสิทธิภาพมาก แต่แพทย์มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่สู้ดีนักในการกำจัดมาลาเรียและโปลิโอ ดังนั้น เชื้อโปลิโอจึงสามารถหลบไปพักฟักตัวในเหยื่อได้เป็นเวลานาน โครงการกำจัดโปลิโอจึงแทบเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับคนที่เป็นฝีดาษอาการไข้จะสำแดงในเวลาไม่นาน ดังนั้นการควบคุมการระบาดจึงสามารถดำเนินได้ในทันที ส่วนคนที่เป็นโปลิโอนั้นกว่าแพทย์จะรู้ว่าคนไข้เป็น เชื้ออาจได้ระบาดไปสู่บุคคลอื่นเรียบร้อยแล้ว
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โครงการกำจัดโรคระบาดชนิดต่างๆ เป็นไปได้ยาก คือ ความโกลาหลวุ่นวายทางการเมืองในพื้นที่ที่โรคโปลิโอกำลังระบาด เช่น พื้นที่นั้นอาจมีสงครามกลางเมืองที่รุนแรงจนทำให้การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนทั่วไม่สามารถกระทำได้ หรือแพทย์ในพื้นที่ไม่ไว้ใจในประสิทธิภาพของวัคซีนโปลิโอ ดังนั้นจึงไม่ชักนำให้ชาวบ้านเข้ารับการฉีดวัคซีน ผลที่ตามมาคือ ในปี 2010 ชาว Tajikistan ได้ล้มป่วยเป็นโรคโปลิโอมากถึง 458 คน ทั้งๆ ที่รัฐบาลของประเทศนั้นได้เคยประกาศว่า Tajikistan จะเป็นดินแดนที่ปลอดโปลิโอตั้งแต่ปี 2002
สำหรับโรคพยาธิกินนี (guinea worm) ทางศูนย์ Carter Center ที่เมือง Atlanta สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมโรคระบาดที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้เคยแถลงว่า ในความพยายามจะกำจัดพยาธิชนิดนี้ ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านที่โรคกำลังคุกคามต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มน้ำ คือต้องนำน้ำที่จะดื่มมากรองก่อน เพราะไข่ของพยาธิชนิดนี้ชอบอาศัยในน้ำ ดังนั้นเวลาไข่เข้าไปในร่างกายของเหยื่อ มันจะฟักเป็นตัวหนอน ซึ่งจะไชออกจากร่างกายที่ปลายขา ทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บปวดมาก เพื่อกำจัดพยาธิชนิดนี้ แพทย์จึงเสนอให้ชาวบ้านพยายามกรองน้ำก่อนดื่มทุกครั้ง และห้ามไม่ให้คนที่กำลังป่วยเป็นโรคนี้เดินเท้าเปล่าลุยแหล่งน้ำใดๆ
ถึงวันนี้พยาธิ guinea worm กำลังใกล้จะถูกกำจัดจนหมดแล้ว สถิติผู้ป่วยในปี 2010 มีน้อยกว่า 1,700 คน และในปี 2014 มีคนป่วย 9 ราย จากเมื่อ 20 ปีก่อนที่มีคนป่วย 3.5 ล้านคนใน 20 ประเทศ ปัจจุบันพยาธินี้ใกล้จะถูกกำจัดหมด ทั้งๆ ที่ Sudan กำลังมีสงครามกลางเมือง
ด้านโรค lymphatic filariasis (LF) หรือโรคเท้าช้าง (elephantiasis) นั้น เกิดจากยุง และโรคชนิดนี้กำลังคุกคามคน 120 ล้านคนใน 80 ประเทศ การได้ชื่อเช่นนี้เพราะ ขา แขน และบริเวณถุงอัณฑะของผู้ป่วยมักบวม และขาใหญ่เหมือนขาช้าง โรคชนิดนี้เกิดจากเชื้อ Uluchereria bancrofti, Brugia malayi, Brugia limori ที่ชอบอาศัยในยุง ตามปกติแพทย์จะให้คนที่เป็นโรคเท้าช้างกินยารักษาติดต่อกันอย่างน้อย 6 ครั้ง โดยใช้ยาที่ผลิตโดยบริษัท GlaxoSmithKline และ Merck อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก WHO ได้คาดการณ์ว่า โรคเท้าช้างจะถูกกำจัดหมดในปี 2020
ส่วนโรคหัด (measles) นั้นก็มีการวางแผนถูกกำจัดเช่นกัน ทั่วโลกมีคนป่วยด้วยโรคนี้ประมาณปีละ 10 ล้านคน แต่ในอเมริกาไม่มีใครป่วยด้วยโรคนี้เลยมาตั้งแต่ปี 2002 แล้ว ในประเทศอื่นๆ จำนวนผู้ป่วยก็กำลังลดลงทุกปี กระนั้นคนส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญในการกำจัดโปลิโอยิ่งกว่าหัด เพราะอาการโปลิโอรุนแรงกว่าหัด
ในแผนกำจัดโปลิโอของไนจีเรีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถานซึ่งเป็นประเทศที่ถูกนานาชาติบีบบังคับให้ทุ่มเทความพยายามกำจัดโปลิโอให้มากขึ้น เพราะประเทศทั้งสามนี้ยังมีคนป่วยเป็นโปลิโอเป็นจำนวนมาก สถิติผู้ป่วยโปลิโอในปี 2012 ในไนจีเรียมี 122 ราย ซึ่งนับว่ามากที่สุด สถิติการระบาดของโปลิโอแสดงให้เห็นว่า เมื่อโครงการกำจัดโปลิโอเริ่มดำเนินการในปี 1988 โลกมีคนป่วยเป็นโปลิโอ 350,000 คน แต่เมื่อถึงปี 1994 ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ออกมาประกาศว่า ทวีปอเมริกาปลอดเชื้อโปลิโอแล้ว ถึงปี2000 ประเทศในยุโรปและทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่ก็ได้รับการประกาศว่าปลอดเชื้อโปลิโอ ในปี 2011 อินเดียได้รับการรับรองว่าไม่มีเชื้อโปลิโอ (ประเทศใดจะได้รับการประกาศว่าปลอดโปลิโอ ถ้าประเทศนั้นไม่มีใครป่วยเป็นโปลิโอ ภายในเวลาสามปีติดต่อกัน)
สำหรับประเทศไนจีเรีย ในปี 2003 ได้มีการปล่อยข่าวลือว่า วัคซีนโปลิโอสามารถทำให้คนเป็นหมัน ดังนั้นเหล่าประชาชนที่กลัวจะเป็นหมันจึงเพิกเฉยไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนโปลิโอ ความละเลยนี้ทำให้จำนวนคนป่วยในประเทศเพิ่มมากอย่างผิดสังเกต และการระบาดได้คุกคามประเทศเพื่อนบ้านในเวลาต่อมา สถิติปี 2004 ของผู้ป่วยเพิ่มเป็น 750 ราย และปี 2006 คนป่วยเป็นโปลิโอในไนจีเรียได้เพิ่มถึง 1,100 ราย จากนั้นได้ลดลงเป็น 300, 750, 30 ราย ในปี 2007, 2008 และ 2010 ตามลำดับ
การเพิ่มและลดจำนวนคนป่วยเป็นโปลิโอของชาวไนจีเรียเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่องของการเข้ารับการฉีดวัคซีน การก่อการร้ายในพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่กำลังถูกคุกคามโดยพวกกบฎ Boko Haram ซึ่งทำให้ประชาชนกลัวตายด้วยกระสุนปืนยิ่งกว่าการตายด้วยโปลิโอ
แต่ในที่สุด กลุ่ม Boko Haram ได้ก็ถูกชาติแอฟริกันอื่นๆ บีบบังคับให้ยินยอมให้ชาวไนจีเรียเข้ารับการฉีดวัคซีน หลังจากที่เห็นเด็กทารก จำนวนมากพิการเป็นง่อย เพราะถูกโปลิโอคุกคาม
ในปี 2012 รัฐบาลไนจีเรียกับองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงร่วมมือกันกำจัดโปลิโออย่างจริงจัง โดยการติดตามหาผู้คนในชุมชนทุกแห่งที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เช่น พวกร่อนเร่พเนจร และพวกที่ชอบอาศัยอยู่ตามพรมแดน โดยแพทย์จะนำวัคซีนไปฉีดซีนให้เด็กๆ ทันทีที่รู้ว่าพวกกบฎ Boko Haram ไม่อยู่ ณ สถานที่นั้น
ในปี 2014 โครงการกำจัดโปลิโอได้ฉีดวัคซีนให้แก่เด็กกว่า 3 ล้านคนแล้ว หลังจากที่รู้ว่า วัคซีนโปลิโอที่ให้เด็กกินไม่ได้ผล และแพทย์ทุกคนคาดหวังว่า ถ้าการตรวจไม่พบคนไข้ที่ป่วยเป็นโปลิโออีก ในระหว่างปี 2014 ถึงเดือนสิงหาคม 2017 แอฟริกาทั้งทวีปก็จะได้รับการประกาศว่าเป็นเขตปลอดโปลิโอ
นอกจากไนจีเรียแล้ว ความสนใจของคนทั้งโลกก็มุ่งตรงไปที่ปากีสถานกับอัฟกานิสถาน เพราะในปี 2015 มีรายงานคนป่วย 25 รายในปากีสถาน และ 4 รายในอัฟกานิสถาน หน่วยงานสาธารณสุขในปากีสถานจึงหวังจะนำระบบการกำจัดของหน่วยงานในไนจีเรียมาใช้ในประเทศปากีสถานบ้าง
ดังนั้นโลกในอนาคตจึงมีแนวโน้มว่า โปลิโอจะถูกกำจัดในอีกไม่นาน
ในปี 2013 Ali Maalin ซึ่งเป็นคนสุดท้ายของโลกที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษและได้แปลงบทบาทของตนมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพ ได้ออกมาต่อสู้โปลิโอด้วยการกระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมชาติชาว Somalia ให้รับเข้าการฉีดวัคซีนโปลิโอ แต่ในที่สุดเขาเองได้ล้มป่วยลงและเสียชีวิตด้วยมาลาเรีย
ตลอดชีวิตของ Maalin เขาได้เห็นการกำจัดฝีดาษ (smallpox) และเกือบจะได้เห็นการกำจัดโปลิโอด้วย เราหลายคนคงหวังที่จะได้เห็นโปลิโอและโรคอีกหลายโรคถูกกำจัดก่อนเราจะจากโลกไปเหมือน Maalin
อ่านเพิ่มเติมจาก When Disease Makes History: Epidemics and Great Historical Turning Points โดย J.R. McNeil จัดพิมพ์โดย Helsinki University Press, Helsinki ปี 2006
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์