xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกเกษตรกรให้เป็นนักวิจัยในสถานการณ์โลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจากแฟ้มเกษตรกรเวียดนามเตรียมแปลงเพาะปลูก (AFP PHOTO / HOANG DINH NAM )
ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และน้ำ คือสองปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผลิตผลเกษตรของเกษตรกรไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศที่กำลังเพิ่มจำนวนตลอดเวลาได้ ดังนั้นผู้บริหารของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายจึงพยายามจัดหาทุนมาสนับสนุนการวิจัยด้านการเกษตรในประเทศด้วยการซื้อวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้สามารถผลิตอาหารจนเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในชาติและต่างชาติ ในขณะเดียวกันองค์การทั้งหลายที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็คาดหวังว่าเกษตรกรทุกคนทั้งประเทศคงสามารถนำความรู้ที่ได้ และอุปกรณ์ที่มีไปใช้ในการดำรงชีพและประกอบอาชีพได้อย่างมีคุณภาพและอย่างยั่งยืนในอนาคต

แต่ความจริงก็มีว่า องค์ความรู้ที่องค์การต่างๆ จัดให้เกษตรกรนั้น เหมาะใช้เฉพาะในบางเวลาและบางพื้นที่เท่านั้น คือ มิสามารถใช้ได้ทุกหนแห่ง และตลอดเวลา ผลที่ตามมาคือ ปริมาณและคุณภาพการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั้งประเทศจึงให้ผลไม่สม่ำเสมอ เช่น อาจเพิ่มไม่มาก หรืออาจลดลงมาก แม้การลงทุนจะเพิ่มก็ตาม

ปัญหาต่อไปจึงมีว่า รัฐบาลควรทำอะไรและอย่างไรเพื่อให้เกษตรกรคนหนึ่งสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิตอย่างได้ผลดีพอๆ กับเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ ณ ที่ไกลออกไป 100 กิโลเมตร เพราะสถานที่ทั้งสองมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์อันได้แก่ ดิน และน้ำ แตกต่างกัน

นักชีววิทยาได้รู้มาเป็นเวลานานแล้วว่า คุณภาพการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ขึ้นโดยตรงกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีนของพืชและสัตว์ กับการจัดการสภาพแวดล้อมของสิ่งมีชีวิต และเมื่อธรรมชาติมีความแปรปรวน ดังนั้น ผลผลิตที่ได้ก็ย่อมแปรปรวนด้วย การจะเพิ่มผลผลิตให้ได้ตลอดเวลาจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่สามารถนำมาใช้ตามสถานที่ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นองค์ความรู้ที่หน่วยงานวิจัยและสถาบันวิจัยการเกษตรจะเสนอให้เกษตรกรนำไปใช้จึงต้องมีการปรับให้เหมาะสมตลอดเวลา โดยอาจต้องใช้ภูมิปัญญาของเกษตรกรท้องถิ่นนั้นที่มีความชำนาญเข้าเสริมด้วย

เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ การฝึกอบรมเกษตรกรให้เป็นทั้งนักวิจัยและนักพัฒนาที่สามารถจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะตามปกติเกษตรกรเป็นนักทดลองผู้มีความเข้าใจในพฤติกรรมของพื้นที่ค่อนข้างดี จึงมักนำความรู้และประสบการณ์จริงที่ได้จากการทดลองปลูกพืช การใส่ปุ๋ย และการเติมปูนขาวเพื่อเปลี่ยนระดับ pH ของดิน ฯลฯ มาสรุปรวมเป็นองค์ความรู้ชาวบ้าน

แต่ในมุมมองของนักวิชาการ เกษตรกรเป็นเพียงผู้ใช้ความรู้มิใช่ผู้สร้างความรู้ นอกจากนี้นักวิชาการก็มักคิดว่า ความรู้ที่เกษตรกรมีนั้นมีมูลค่าน้อย และไม่ตระหนักว่า ถ้ามีการช่วยบรรดาเกษตรกรให้รู้วิธีวิเคราะห์การทำงานของเกษตรกร การวิเคราะห์จะทำให้เขาได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด

เมื่อวงการศึกษามีกรอบความคิดเรื่อง “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ในวงการเกษตรก็น่าจะมีแนวคิดให้ “เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง” เช่นกัน
เกษตรกรเวียดนามเก็บเกี่ยวกะหล่ำ (AFP PHOTO / HOANG DINH NAM )
ในปี 1989 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Food and Agricultural Organisation FAO) ได้เริ่มโครงการทดลองจัดตั้งโรงเรียนสอนความรู้ด้านเกษตรกรรมแก่เกษตรกรในอินโดนีเซียโดยให้คนเหล่านี้มาพบปะเสวนาวิชาการกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน แสวงหาวิธีลดการพึ่งยากำจัดวัชพืช โดยการฝึกเกษตรกรในพื้นที่ให้รู้วิธีจำแนกโรคพืช และศัตรูพืช ถึงวันนี้ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกามีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วประมาณ 10 ล้านคน การวิเคราะห์ข้อดี และข้อด้อยของทั้ง 71 โครงการแสดงว่า ประสบการณ์ของเกษตรกรนั้นหลากหลายและตามปรกติแตกต่างกันมาก และตามปรกติโครงการมุ่งเป้ามักประสบความสำเร็จมากกว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมาย ทั้งนี้เพราะผู้เข้าร่วมในโครงการมุ่งเป้ามักได้รับความรู้ตรงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิต ทำให้รายได้เพิ่มตาม

ในปี 2012 อังกฤษได้จัดให้มีโปรแกรม Duchy Originals Future Farming Programme ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนจากการนำผลิตผลของเกษตรกรไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต โครงการนี้มีหน่วยงานที่ไม่มุ่งกำไรสองหน่วยงาน และให้ทุนสนับสนุน ได้แก่ Soil Association กับ Organic Research Centre ทั้งสององค์กรมีจุดประสงค์จะเพิ่มพูนความชำนาญของเกษตรกรให้เป็นผู้นำนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มผลิตผลการเกษตร และกิจกรรมที่จัดต้องไม่เป็นพิษหรือสร้างภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทุกโครงการมีเกษตรกรจำนวนตั้งแต่ 5-15 คนเป็นสมาชิก คนเหล่านี้จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาที่เกษตรกรคนหนึ่งเสนอแนะ โดยระยะเวลาในการทดสอบและแก้ปัญหาอาจต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี ในกิจกรรมนี้องค์กรที่สนับสนุนต้องจัดหานักวิจัยที่เชี่ยวชาญมาช่วย ซึ่งอาจเป็นสัตว์แพทย์ นักเกษตรกรรม นักพฤกษศาสตร์ หรือนักนิเวศวิทยาผู้มีหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบการทดลอง รวมถึงมีความสามารถชี้แนะเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อป้องกันมิให้มีการทำวิจัยซ้ำซ้อน

ถึงวันนี้อังกฤษมีเกษตรกรประมาณ 450 คนที่เข้าร่วมใน 20 โครงการ และคนเหล่านี้ได้เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้ทาง online โดยใช้พื้นที่ตั้งแต่ 2 ไร่ ถึง 2,000 ไร่ อนึ่งในการออกทดลองภาคสนาม คนเหล่านี้จะได้รับการฝึกสอนให้รู้วิธีกำจัดวัชพืชที่ต่อต้านยา รู้จักวิธีประเมินผลได้-เสียในการเลี้ยงไก่ เพื่อว่าไก่จะได้สามารถออกไข่ในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ และเรียนรู้วิธีประเมินคุณ-โทษของการใช้ยากำจัดพยาธิใบไม้ที่พบในตับของสัตว์ เช่น แกะ เป็นต้น

แม้คำตอบที่ได้จากโครงการเหล่านี้จะไม่สามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็น และจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาก็ค่อนข้างน้อยนอกจากนี้ เวลาทดลองก็ค่อนข้างสั้น แต่การได้เข้ามาทำงานในห้องปฏิบัติการก็ได้ทำให้คนกลุ่มนี้มีจิตวิญญาณของความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น และมีความต้องการจะวิจัยระดับลึกยิ่งขึ้น
เกษตรกรเวียดนามเตรียมนำกะหล่ำไปจำหน่าย (AFP PHOTO / HOANG DINH NAM )
ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วมีโครงการมากมายให้เกษตรกรระดับรากหญ้าทำวิจัย เช่น สหพันธ์ยุโรป (EU) ได้จัดตั้งโครงการฝึกเกษตรกรให้รู้วิธีพัฒนาพืชที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรในอิตาลีและฝรั่งเศสกำลังทดสอบเลือกสายพันธุ์ของข้าวบาร์เลย์ ถั่ว บร็อคโคลี่ ข้าวโพด มะเขือเทศ และข้าวสาลีมาปลูก

ในเดนมาร์กผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสัตว์จัดตั้งโครงการให้ชาวนาห้ากลุ่มมาทำงานร่วมกันเพื่อประเมิน และวิเคราะห์วิธีการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรวมทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การรีดนม รวมถึงการลดปริมาณยาปฏิชีวนะ เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถทำการเกษตรกรรมได้ดีในระยะยาว และหลังจากที่เขาได้องค์ความรู้ต่างๆ แล้วก็จะเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ทาง website และ apps ให้เพื่อนเกษตรกรได้รู้วิธีใช้อุปกรณ์ และเห็นการออกแบบวิธีการใหม่ๆ ในการทำเกษตรกรรมบ้าง

ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีองค์กร CABI ที่ช่วยให้มีพฤกษแพทย์ (plant doctor) ซึ่งก็คือผู้เชี่ยวชาญที่รู้เกี่ยวกับโรคพืชที่กำลังระบาดในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรทุกคนได้ช่วยกันควบคุมและติดตามเส้นทางการระบาดของโรคนั้น

ส่วนกองทุนวิจัยก็กำลังเห็นคุณค่าในการสอบถามความต้องการของเกษตรกรว่าประสงค์อะไรและที่อังกฤษมีหน่วยที่ปรึกษาชื่อ Feeding the Future ซึ่งก็ได้พบว่า ความต้องการด้านการบริหารจัดการโรคที่สัตว์จะเป็น และความรู้ด้านเทคนิคเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด

ในการเชื่อมโยงเกษตรกร นักวิจัย นักธุรกิจ และผู้มีส่วนได้-เสียเป็นกลุ่มซึ่งมีปัญหาร่วมกันเพื่อหาทางออกนี้ เป็นจุดมุ่งหมายของโครงการ European Innovation Partnership ที่ได้รับการสนับสนุนถึงปี 2020 และผู้เกี่ยวข้องคาดหวังว่า ผลกระทบเชิงบวกจะมีมากมหาศาล ทุกคนก็ยังตระหนักว่า โครงการจะสำเร็จถ้าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อพัฒนา ฝึก และสอนเกษตรกรตัวจริงอย่างจริงจัง ดังนั้นโครงการนี้จึงแตกต่างจากโครงการเดิมๆ ที่จัดให้มีแต่ความร่วมระหว่างตัวแทน นักการเมือง ผู้ประกอบการ และเกษตรกร

การทำวิจัยเกษตรในอนาคตจึงเป็นการกระจายความรู้สู่เกษตรกรและโดยเกษตรกรเพื่อให้เขาสามารถปลูกพืช สร้างอาหารเลี้ยงตัวเองและโลกได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลการเกษตรปีกลายนี้แสดงว่า โลกผลิตข้าวโพดได้ 1,000 ล้านตัน ข้าว 750 ล้านตัน ข้าวสาลี 700 ล้านตัน และอ้อยเกือบ 2,000 ล้านตัน แม้ผลิตผลจากดูมีปริมาณ “มาก” แต่ก็มีคนที่ขาดสารอาหารมากถึง 800 ล้านคนทุกปี ยิ่งเมื่อสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน อีกทั้งจำนวนประชากรก็เพิ่มตลอดเวลาจาก 7,000 ล้านคนเป็น 9,000 ล้านคนในอีก 35 ปี ดังนั้นวงการเกษตรกรรมจึงได้รับความกดดันมากในการสู้กับปัญหาที่กำลังจะเกิดในอนาคต เพราะรู้ว่า การมีฝนตกน้อย และอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมาก ความแห้งแล้ง รวมถึงการมีพายุไต้ฝุ่นที่เกิดบ่อยในบางประเทศเขตร้อน ทำให้เกษตรกรทุกคนมีความรู้สึกกังวล และเมื่อการพยากรณ์ข้อมูลด้านเกษตรกรรมในระยะยาวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะนักพยากรณ์มักไม่รู้ว่าดินฟ้าอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และไม่รู้ชัดว่าในอนาคตไกลๆ เกษตรกรจะปลูกพืชชนิดใดบ้าง ไม่รู้แม้กระทั่งการใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูกว่าจะมากน้อยเพียงใด ถึงความแน่นอนเหล่านี้จะทำให้ความเชื่อมั่นในผลผลิตไม่มั่นคงก็ตาม แต่แบบจำลองที่ใช้ในการคำนวณผลผลิตทางเกษตรกรรมก็ชี้ว่า ถ้าอุณหภูมิของดินฟ้าอากาศเพิ่ม 2 องศาเซลเซียส ผลิตผลประเภทข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด ในบริเวณเขตร้อนของโลกจะลด
เกษตรกกรชาวศรีลังกาในไร่ที่ชายแดนโคลอมโบ (AFP PHOTO / LAKRUWAN WANNIARACHCHI )
ดังนั้น การช่วยให้เกษตรกรรับรู้เรื่องโลกร้อน และสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนมาก จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน นักวิจัยด้านเกษตรบางคนสนใจการปลูกพืชที่ทนภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งได้นานๆ หรือแสวงหาพืชที่สามารถขึ้นในพื้นที่ดินเค็มได้ เพราะพื้นที่มักถูกน้ำทะเลท่วม ขณะนี้ชาวนาในอินเดีย เนปาล และบังคลาเทศ จึงกำลังปลูกข้าวที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute IRRI) ที่ Los Banos ในฟิลิปปินส์เอามาให้ปลูก เพราะข้าวพันธุ์ดังกล่าวสามารถทนน้ำท่วมได้ดีกว่าข้าวธรรมดา ผลก็คือ เกษตรกรได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น 45% และทำให้ภาวะทุพภิกขภัยในประเทศลดลงมาก

องค์การ IRRI ยังได้จัดสร้างระบบการสื่อสารให้เกษตรกรรู้ว่า เขาควรลงปุ๋ยในดินเมื่อใด จะเก็บเกี่ยวเมื่อใดด้วย ในช่วง 6 เดือนแรกของปีกลาย (2015) IRRI ได้ส่งคำรับรองต่างๆ ไปให้เกษตรกร 170,000 ครั้ง และผลปรากฏว่า ผลิตผลของชาวนาได้เพิ่มขึ้น 10%

ในสองทศวรรษหน้า การปรับตัวของเกษตรกรจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะเกษตรกรอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงชนิดของพืชที่ปลูก หรืออาจจะต้องทิ้งพื้นที่ทำเกษตรกรรมไป ในออสเตรียรัฐบาลได้จัดให้มีกฎหมาย 130 มาตรการในการจัดการให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ปรวนแปร แต่ก็พบว่า การเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาให้ความสำคัญกับกำไร-ขาดทุนระยะสั้นๆ คือปีต่อปีมากกว่าจะสนใจการคำนวณผลได้-เสียจากการทำเกษตรกรรมในปี 2050 ซึ่งดูเหมือนจะไกลเป็นศตวรรษ

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นที่สนใจ คือ เกษตรกรมักไม่เข้าใจความซับซ้อนของการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งไม่มีแหล่งทรัพยากรมาก ในการวางแผนเพื่ออนาคตเช่นทำนายว่า พืชชนิดใดบ้างจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในอีก 30 ปี เมื่อดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงมาก และนั่นก็คือบทบาทที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องช่วยเกษตรกรคิด นอกเหนือจากการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารวิชาการ

อ่านเพิ่มเติมจาก Turn down the Heat: Climate Extremes. Regional Impacts and the Case for Resilience จัดพิมพ์โดย World Bank ในปี 2013

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์









กำลังโหลดความคิดเห็น