นาซาปล่อยภาพพื้นผิว “พลูโต” ความละเอียดสูงภาพแรก ให้ภาพคมชัดกว่าภาพแผนที่ยานสำรวจมีอยู่ถึง 6 เท่า และเป็นภาพระยะใกล้ชัดที่สุดของอดีตดาวเคราะห์ที่มนุษย์ได้เห็นในรอบหลายทศวรรษ รายละเอียดเผยหลุมอุกกาบาตหลายหลุม ภูเขาหลายลูกและภูเขาน้ำแข็งอีกหลายแห่ง
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยภาพพื้นผิว “พลูโต” ความละเอียดสูงภาพแรก ที่ยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) บันทึกไว้ระหว่างบินโฉบใกล้ดาวเคราะห์แคระดังกล่าวเมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยยานอวกาศขนาดเท่าเปียโนจะส่งข้อมูลภาพดิจิทัลที่บันทึกไว้กลับมาทุกสัปดาห์
สำหรับภาพล่าสุดที่ส่งมานี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดภาพถ่ายขณะที่ยานนิวฮอไรซอนส์เกือบเข้าใกล้พลูโตในระยะใกล้ที่สุด โดยภาพที่บันทึกได้นี้มีความละเอียด 77-85 เมตรต่อพิกเซล ซึ่งภาพให้เห็นความละเอียดของสิ่งที่อยู่บนพื้นผิวในระดับที่เล็กกว่าตึกในเมืองประมาณครึ่งหนึ่ง ในภาพเผยให้เห็นหลุมอุกกาบาตจำนวนมาก ภูเขาอีกมากมาย รวมถึงภูเขาน้ำแข็ง
จอห์น กรันส์เฟล์ด (John Grunsfeld) อดีตมนุษย์อวกาศ และผู้ช่วยผู้อำนวยการนาซาแผนกอำนวยการผฏิบัติการวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าภาพระยะใกล้นี้แสดงถึงความหลากหลายของภูมิประเทศบนพลูโต และยังแสดงถึงพลังของยานสำรวจอวกาศของนาซาที่สามารถส่งข้อมูลอันน่าทึ่งกลับมายังนักวิทยาศาสตร์บนโลก
“นิวฮอไรซอนส์ทำให้เราขนลุกระหว่างช่วงบนโฉบเมื่อเดือน ก.ค.ด้วยภาพใกล้ของดาวพลูโตภาพแรก และเมื่อส่งขุมทรัพย์ภาพจากหน่วยความจำบนยานกลับมาให้เรา และเรายังคงทึ่งต่อไปอีกจากสิ่งที่เราเห็น” กรันส์เฟล์ดกล่าว
ภาพที่นิวฮอไรซอนส์ส่งมาเป็นภาพที่เผยพื้นผิวกินบริเวณกว้าง 80 กิโลเมตรของดาวเคราะห์แคระที่อยู่ห่างจากโลกออกไปกว่า 4 พันล้านกิโลเมตร หลังจากนั้นข้อมูลภาพมารวมกันได้เป็นภาพโมเสคที่มีขอบเป็นรอยหยักแสดงพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบริเวณที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “สปุตนิกพลานัม” (Sputnik Planum) ภูเขาอัล-อิดริไซ (al-Idrisi) ชายฝั่งสปุตนิกและพื้นผิวน้ำแข็ง
ด้าน อลัน สเติร์น (Alan Stern) หัวหน้าทีมศึกษาในโครงการนิวฮอไรซอนส์ จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสท์ (Southwest Research Institute: SwRI) เผยว่าภาพใหม่นี้เปิดให้เห็นภาพความละเอียดสูงของภูมิประเทศพลูโต ซึ่งเมื่อเทียบกับดาวศุกร์และดาวอังคารแล้วกว่าจะได้ภาพละเอียดสูงระดับนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีนับจากการบินสำรวจดาวเคราะห์เหล่านั้นในครั้งแรก ขณะที่ภาพความละเอียดสูงจากดาวพลูโตใช้เวลาไม่ถึง 5 เดือน และวิทยาศาสตร์ที่จะภาพเหล่านี้ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อเช่นกัน
ภาพที่ได้ใหม่นี้มีความละเอียดเป็น 6 เท่าของภาพแผนที่พลูโตที่ยานนิวฮอไรซอนส์มีอยู่ และยังละเอียดกว่าไทรทัน (Triton) ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเนปจูนที่บันทึกด้วยยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) เมื่อปี 1989 ประมาณ 5 เท่า และนักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจนี้ยังตั้งตารอภาพในชุดเดียวกันนี้ที่จะส่งตามมา ซึ่งจะแสดงภูมิประเทศอื่นๆ ที่ความละเอียดสูงสุดเช่นกันนี้
ชมภาพพื้นผิวพลูโตความละเอียดสูงภาพแรก คลิก http://www.nasa.gov/image-feature/mosaic-of-pluto-s-craters-mountains-and-glaciers/