xs
xsm
sm
md
lg

ภาพสีบ่งบอกหัวใจบน “พลูโต” แบ่งเป็นสองส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพสีของ “พลูโต” (ซ้าย) และ “ชารอน” (ขวา) บันทึกผ่านฟิลเตอร์สีของกล้องราฟบนยานนิวฮอไรซอนส์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2015 (NASA/APL/SwRI via AP)
ภาพจากนาซาเผยสีสันของ “พลูโต” และ “ชารอน” ดวงจันทร์บริวาร ที่ปรับแต่งตามองค์ประกอบและลักษณะของพื้นพบ พบดาวเคราะห์แคระเป็นโลกที่ซับซ้อน และพื้นผิวรูปหัวใจอันโดดเด่นยังแบ่งเป็นสอง ขณะที่ “นิวฮอไรซอนส์” เพิ่งโทรกลับบ้านและจะไม่ติดต่อโลกจนกว่าจะเก็บข้อมูล

ภาพสีของ “พลูโต” (Pluto) และ “ชารอน” (Charon) ดวงจันทร์บริวารที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยแพร่มานั้น เป็นภาพที่ได้จากฟิลเตอร์ 3 สีของกล้องราฟ (Ralph) บนยานนิวฮอไรซอนส์ ที่บันทึกไว้เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 13 ก.ค.2015 และส่งมาถึงโลกเวลา 23.25 น. ก่อนที่ยานจะเฉียดใกล้ดาวเคราะห์แคระมากที่สุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ระยะ 12,500 กิโลเมตร

ภาพดังกล่าวถูกแต่งให้สีเพี้ยนเกินจริงเพื่อง่ายต่อการจำแนกองค์ประกอบและลักษณะบนพื้นผิวของดาวเคราะห์แคระและดวงจันทร์ โดย วิล กรันดรี (Will Grundy) ผู้ร่วมศึกษาในโครงการนิวฮอไรซอนส์จากห้องปฏิบัติการโลเวลล์ (Lowell Observatory) กล่าวว่า ภาพเหล่านี้เผยให้เห็นว่าพลูโตและชารอนนั้นเป็นโลกที่ซับซ้อน

“ทีมวิเคราะห์องค์ประกบพื้นผิวของเรากำลังเร่งจำแนกสสารในบริเวณต่างๆ ของพลูโต และกระบวนการที่ทำให้สสารเหล่านั้นไปอยู่ในบริเวณดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” กรันดรีกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลสีจะช่วยนักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงองค์ประกอบโมเลกุลของน้ำแข็งบนพื้นผิวพลูโตและชารอน รวมถึงอายุของลักษณะทางธรณีวิทยา เช่น หลุมอุกกาบาต อีกทั้งข้อมูลสียังช่วยบอกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวเนื่องจากสภาพอวกาศอย่างเช่นการแผ่รังสีได้

นอกจากนี้ ภาพสียังเผยให้เห็นว่า แม้จริงแล้ว “หัวใจ” บนพื้นผิวพลูโตนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน โดยจากภาพสีที่เพี้ยนจากความเป็นจริงนี้แสดงรูปหัวใจที่ประกอบด้วยส่วนที่คล้ายไอศครีมโคนทางด้านซ้าย ซึ่งปรากฏสีคล้ายลูกพีช ส่วนที่เหลือทางด้านขวาออกเป็นสีน้ำเงิน และมีเส้นแบ่งตรงกลางที่ปรากฏเป็นหลายเฉดสีตั้งแต่สีน้ำเงินจางๆ ไปจนถึงสีแดง ส่วนบริเวณขั้วของดาวเคราะห์แคระปรากฏเป็นสีเหลืองส้ม ซึ่งบ่งชี้ว่ามีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน

ส่วน เดนนิส รอยเตอร์ (Dennis Reuter) ผู้ร่วมศึกษาในทีมวิเคราะห์องค์ประกอบในโครงการนิวฮอไรซอนส์ กล่าวว่า พวกเขาสร้างสีสันของภาพเพื่อเน้นความแตกต่างของสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวที่ปรากฏในระบบพลูโต ซึ่งเป็นวิธีเบื้องต้นที่ยังต้องเรียนรู่อีกมากจากข้อมูลที่จะส่งมา

ด้วยระยะทางไกลกว่า 4.88 พันล้านกิโลเมตรนี้ นาซาระบุว่า ข้อมูลที่เดินทางด้วยความเร็วแสงต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงครึ่งเพื่อมาถึงโลก และต้องใช้เวลาถึง 16 เดือน เพื่อรับสัญญาณข้อมูลวิทยาศาสตร์ทั้งหมดจากนิวฮอรไรซอนส์ และจะเป้นขุมทรัพย์ทางข้อมูลที่ต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายสิบปี

ทั้งนี้ นิวฮอไรซอนส์เป็นยานอวกาศที่เดินทางเร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยส่งขึ้นไป โดยยานถูกส่งขึ้นเมื่อ 19 ม.ค.2006 และท่องอวกาศเป็นระยะทางกว่า 4.88 พันล้านกิโลเมตร และบินผ่านพลูโตในระยะใกล้ที่สุดเมื่อ 14 ก.ค.2015 เวลา 18.49 น. ที่ระยะทาง 12,500 กิโลเมตร โดยยานส่งภาพมายังโลกด้วยสัญญาณวิทยุซึ่งใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงครึ่ง

ยานนิวฮอไรซอนส์ชส่งสัญญาณกลับโลกเมื่อก่อนเวลา 08.00 น.ของวันที่ 15 ก.ค.2015 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งการส่งสัญญาณ “โทรกลับ” นี้เป็นสัญญาณชุดข้อความสถานะยาว 15 นาทีที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้ส่งกลับมาถึงศูนย์ควบคุมปฏิบัติการ ณ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ (Hopkins University Applied Physics Laboratory) ในรัฐแมรีแลนด์ ผ่านเครือข่ายดีพสเปซ (Deep Space Network) ของนาซา









กำลังโหลดความคิดเห็น