นาซาเผยภาพสีแสดงพื้นผิว “พลูโต” ที่ชัดขึ้น พร้อมลุ้นยาน “นิวฮอไรซอนส์” เฉียดใกล้ดาวเคราะห์แคระและบริวารในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ซึ่งโลกจะได้เห็นภาพอดีตดาวเคราะห์ที่ห่างไกลนี้มากที่สุด ขณะที่ปัญหาสัญญาณการติดต่อก่อนหน้านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยภาพสีชุดใหม่ของ “พลูโต” ที่บันทึกด้วยยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) แสดงถึงพื้นผิวของดาวเคราะห์แคระที่แตกต่างกัน 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งมีจุดเรียงขนานไปตามเส้นศูนย์สูตรในระยะเท่าๆ กัน ซึ่งแต่ละจุดมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 480 กิโลเมตร
เอเอฟพีรายงานว่า นาซาระบุคร่าวๆ ว่าสูญเสียการติดต่อกับยานนิวฮอไรซอนส์เป็นระยะสั้นๆ หลังสัญญาณสื่อสารหายไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2015 เป็นเวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง และต่อมาอีก 2 วันได้เผยว่าข้อขัดข้องดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว หลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ต่างงุนงงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับยานอวกาศที่อยู่ไกลออกไป 4.8 พันล้านกิโลเมตร
ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ก.ค.นิวฮอไรซอนส์จะเข้าใกล้พลูโตมากที่สุด ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่โลกจะได้เห็นดาวเคราะห์แคระที่อยู่ห่างไกลได้ในระยะใกล้ๆ โดยพลูโตเคยมีสถานะเป็นดาวเคราะห์และอยู่ไกลที่สุดในระบบสุริยะ แต่ในปี 2006 ได้ถูกลดสถานะลงเป็นดาวเคราะห์แคระเมื่อปี 2006
เมื่อนิวฮอไรซอนส์เข้าใกล้พลูโตมากที่สุด กล้องจิ๋วบนยาน พร้อมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุ อุปกรณ์ตรวจวัรังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรด รวมถึงเครื่องมือทดสอบพลาสมาในอวกาศ จะทำหน้าที่ประเมินลักษณะทางธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานวิทยาของพลูโตและชารอน (Charon) ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของพลูโต
พร้อมกันนี้นยานอวกาศของนาซาจะทำแผนที่องค์ประกอบของพิ้นผิวและอุณหภูมิของทั้งสองดวง รวมถึงตรวจสอบลักษณะบรรยากาศของพลูโตด้วย โดยสักษณะที่สะดุดที่สุดของยานลำนี้คือแถบจานรับสัญญาณที่กว้างถึง 2.1 เมตร ซึ่งใช้สื่อสารทางไกลระหว่างโลกได้ถึง 7.5 พันล้านกิโลเมตร