xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพพื้นผิว "พลูโต" เห็นภูเขา-ไร้หลุมอุกกาบาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพระยะใกล้ของพื้นผิวพลูโตบริเวณเส้นศูนย์สูตร ที่นาซาเผยออกมาเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 16 ก.ค.2015 ตามเวลาประเทศไทย เผยให้เห็นแถบภูเขาอายุน้อยที่สูงถึง 3,500 เมตรจากพื้นผิวดาวเคราะห์แคระ ภาพนี้บันทึกโดยยานนิวฮอไรซอนส์เมื่อเวลา 18.49 น.ของวันที่ 14 ก.ค. หลังจากใช้เวลาเดินทางจากโลกเป็นเวลา 9 ปีครึ่ง เป็นระยะทางกว่า 4.88 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งการส่งยานดังกล่าวเป็นผลจากการเริ่มสำรวจระบบสุริยะของนาซาเมื่อกว่า 50 ปีก่อน (REUTERS/NASA New Horizons/Handout via Reuters)
นาซาปล่อยภาพ "พลูโต" ที่บันทึกขณะยานอวกาศบินผ่านในระยะใกล้ที่สุด เผยให้เห็นพื้นผิวดาวเคราะห์แคระที่มีภูเขาเป็นน้ำแข็งและยังไม่มีหลุมอุกกาบาต

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยภาพใกล้ของพื้นผิว "พลูโต" ซึ่งบันทึกได้ขณะยานอวกาศ "นิวฮอไรซอนส์" (New Horizons) บินผ่านในระยะใกล้ที่สุด 12,500 กิโลเมตร เมื่อเวลา 18.49 น.วันที่ 14 ก.ค.2015 ซึ่งเผยให้เห็นภูเขาที่เป็นน้ำแข็ง และไร้หลุมอุกกาบาต

ด้านรอยเตอร์รายงานว่าขณะนี้ยานอวกาศของนาซากำลังมุ่งหน้าเข้าไปในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ขอบเขตระบบสุริยะที่อยู่ถัดจากดาวเนปจูน ซึ่งยังมีวัตถุคล้ายพลูโตอีกนับพัน และเชื่อว่าเป็นเศษซากที่เหลือจากกำเนิดระบบระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน

จากข้อมูลของนาซาขณะบินผ่านพลูโตนั้นนิวฮอไรซอนส์ถูกโปรแกรมให้เก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดและงดสื่อสารกับโลกจนกว่าจะพ้นจากระบบพลูโต และภาพแรกขณะบินผ่านดาวเคราะห์แคระเพิ่งส่งมาถึงสถานีรับสัญญาณที่ออสเตรเลียเมื่อเย็นวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อมูลใช้เวลาเดินทางด้วยความเร็วแสงเป็นเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่า พลูโตนั้นสร้างภูเขาที่สูงถึง 3,350 เมตรได้อย่างไร และทำไมพลูโตถึงมีพื้นผิวที่ค่อนข้างเรียบ ทั้งที่ดาวเคราะห์แคระน้ำแข็งที่เล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกนี้น่าจะถูกอุกกาบาตจากแถบไคเปอร์พุ่งชนจำนวนมาก
รายละเอียดใหม่ของชารอนดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของพลูโต บันทึกด้วยกล้องลอร์รี (LORRI) ของยานนิวฮอไรซอนส์ บันทึกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ระยะ 466,000 กิโลเมตร ซึ่งนาซาเพิ่งเผยออกมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ตามเวลาประเทศไทย (REUTERS/NASA New Horizons/Handout via Reuters)
พื้นผิวที่ค่อนข้างเรียบของพลูโตนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับมหาสมุทรใต้ใต้พื้น หรือภูเขาไฟน้ำแข็ง หรืออาจเป็นปรากฎการณ์ทางธรณีอื่นๆ ที่ให้ความร้อน โดยรอยเตอร์ระบุอีกว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภูเขาของพลูโตนั้นน่าจะกำเนิดขึ้นภายใน 100 ล้านปีก่อน โดยเทียบกับอายุของระบบสุริยะ

ภาพใกล้ของพื้นผิวพลูโตครอบคลุมแถบพื้นดินประมาณ 241 กิโลเมตร ใกล้แถบเส้นศูนย์สูตรที่ขรุขระของพลูโต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังประหลาดใจที่ดินแดนน้ำแข็งนี้ยังมีกิจกรรมทางธรณีเกิดขึ้นอยู่

ด้านเคธี ออลกิน (Cathy Olkin) ระบุแก่สื่อมวลชน ณ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ (Johns Hopkins University Applied Physics Lab) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมของภารกิจนี้ว่า พลูโตนั้นมีความหลากหลายมาก พวกเขาได้เห็นคุณลักษณะที่หลากหลายซึ่งไม่มีอะไรเหมือน

ขณะเดียวกัน "ชารอน" (Charon) ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของพลูโตก็สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมทางธรณีวิทยาได้สงบไปแล้ว แต่กลับพบหน้าผาและหุบเขาลึก ซึ่งเป็นหลักฐานของกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในดวงจันทร์

ทั้งนี้ มีภาพและข้อมูลวิทยาศาสตร์เพียงเสี้ยวเดียวที่ส่งมาเผยแพร่ จากข้อมูลภาพนับพันภาพที่บันทึกและเก็บโดยยานนิวฮอไรซอนส์ ระหว่างผ่านเข้าไปในระบบพลูโต โดยข้อมูลภาพทั้งหมดจะถูกส่งมาถึงโลกจนครบในอีก 16 เดือนข้างหน้า และต้องเวลาวิเคราะห์อีกหลายสิบปี









กำลังโหลดความคิดเห็น