xs
xsm
sm
md
lg

“นิวฮอไรซอนส์” ส่งสัญญาณภาพ “พลูโต” ถึงสถานีออสเตรเลียแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“นิวฮอไรซอนส์” ส่งสัญญาณภาพ “พลูโต” ถึงสถานีออสเตรเลียแล้ว




ข้อความจากทวิตเตอร์ของยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยสัญญาณภาพแรกขณะยานเข้าใกล้ “พลูโต” มากที่สุด ถึงสถานีสื่อสารอวกาศระยะไกลแคนเบอร์รา (Canberra's Deep Space Communication Complex: CDSCC) เครือข่ายของนาซาที่ออสเตรเลียแล้ว

ทั้งนี้ นิวฮอไรซอนส์เป็นยานอวกาศที่เดินทางเร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยส่งขึ้นไป โดยยานถูกส่งขึ้นเมื่อ 19 ม.ค.2006 และท่องอวกาศเป็นระยะทางกว่า 4.88 พันล้านกิโลเมตร และบินผ่านพลูโตในระยะใกล้ที่สุดเมื่อ 14 ก.ค.2015 เวลา 18.49 น. ที่ระยะทาง 12,500 กิโลเมตร โดยยานส่งภาพมายังโลกด้วยสัญญาณวิทยุซึ่งใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงครึ่ง

ยานนิวฮอไรซอนส์ชส่งสัญญาณกลับโลกเมื่อก่อนเวลา 08.00 น.ของวันที่ 15 ก.ค.2015 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งการส่งสัญญาณ “โทรกลับ” นี้เป็นสัญญาณชุดข้อความสถานะยาว 15 นาทีที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้ส่งกลับมาถึงศูนย์ควบคุมปฏิบัติการ ณ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ (Hopkins University Applied Physics Laboratory) ในรัฐแมรีแลนด์ ผ่านเครือข่ายดีพสเปซ (Deep Space Network) ของนาซา

นอกจากนี้ ยานนิวฮอไรซอนส์ยังถูกป้อนคำสั่งให้ใช้เวลาร่วมวันเพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด และไม่ติดต่อโลกจนกว่าจะพ้นจากระบบของพลูโต โดยนาซาเผยอีกว่า ข้อมูลที่บันทึกขณะยานเฉียดพลูโตต้องใช้เวลาส่งกลับมายังโลกนานถึง 16 เดือน และจะเป็นขุมทรัพย์ทางข้อมูลที่ต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายสิบปี หลังจากนี้ยานจะมุ่งหน้าสู่แถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ต่อไป









กำลังโหลดความคิดเห็น