นาซาเผย “นิวฮอไรซอนส์” ที่ส่งขึ้นเมื่อกว่า 9 ปีที่แล้ว เข้าใกล้ “พลูโต” ในระยะใกล้ที่สุดแล้ว และกำลังตรวจสอบบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์แคระ
ภาพพลูโตระยะใกล้ที่สุดก่อนยานเข้าใกล้ดาวเคราะห์แคระดวงนี้มากที่สุด ซึ่งเผยให้เห็นพื้นผิวที่มีแถบรูปหัวใจ
Hello #Pluto! We’re at closest approach. Congrats to all! Follow our story & view new images using #PlutoFlyby. pic.twitter.com/8JVlJrcUkY
— NASA New Horizons (@NASANewHorizons) July 14, 2015
องค์การบริการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยยาน “นิวฮอไรซอนส์” เข้าใกล้ “พลูโต” มากที่สุดแล้วเมื่อเวลา 18.49 น. ของวันที่ 14 ก.ค.2015 หลังจากยานถูกส่งขึ้นไปจากโลกเป็นเวลากว่า 9 ปี และท่องอวกาศเป็นระยะทางกว่า 4.88 พันล้านกิโลเมตร และยานกำลังตรวจสอบชั้นบรรยากาศและภูมิประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร
ทั้งนี้ ภาพพลูโตในระยะใกล้ที่สุดต้องใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง โดยจะไปถึงสถานีสื่อสารอวกาศระยะไกลแคนเบอร์รา (Canberra's Deep Space Communication Complex: CDSCC) ในออสเตรเลียเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นสถานีเครือข่ายของนาซา
ด้าน เอ็ด ครูซินส์ (Ed Kruzins) ผู้อำนวยการ CDSCC เผยแก่ทางรอยเตอร์ว่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เพราะเราไม่เคยไปเยือนพลูโต ทั้งโดยหุ่นยนต์สำรวจหรือโดยมนุษย์ เนื่องจากดาวเคราะห์แคระดวงนี้อยู่ไกลมาก
พลูโตเป็นวัตถุในแถบไคเปอร์ที่อยู่ถัดออกไปจากดาวเนปจูน ถูกค้นพบเมื่อปี 1930 โดย ไคลด์ ทอมบวก (Clyde Tombaugh) และเคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ จนกระทั่งปี 2006 ได้ถูกลดระดับเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ แต่จนถึงทุกวันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับอดีตดาวเคราะห์ดวงนี้น้อยมาก
สำหรับยานนิวฮอไรซอนส์นั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อ 19 ม.ค.2006 และเป็นยานอวกาศที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยส่งขึ้นไป โดยยานเคลื่อนที่ผ่านพลูโตด้วยความเร็ว 58,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งข้อมูลและภาพทั้งหมดของพลูโตที่ยานบันทึกขณะเฉียดใกล้ในวันที่ 14 ก.ค.ต้องใช้เวลาส่งทั้งหมดราว 16 เดือน และหลังจากนี้ยานจะมุ่งหน้าเข้าสู่แถบไคเปอร์ เพื่อแสวงหาวัตถุอื่นๆ ที่คล้ายพลูโตต่อไป