เอเอฟพี - ยานอวกาศไร้นักบินของนาซากำลังจะเผยให้เห็นรายละเอียดพื้นผิวของดาวพลูโตเป็นครั้งแรกในวันอังคาร (14 ก.ค.) ขณะเร่งความเร็วเข้าใกล้ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ หลังเดินทางนานเกือบทศวรรษ
ยานอวกาศ "นิว ฮอไรซอน" ที่มีขนาดเท่ากับเบบี้แกรนด์เปียโนและถูกระบุว่าเป็นยานอวกาศที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา ขณะนี้กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 30,800 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความกังวลใจเกิดขึ้น เมื่อยานมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ลำนี้ กำลังมุ่งหน้าสู่พื้นที่เขตแดนที่ไม่เคยมีใครสำรวจของระบบสุริยะ
จากข้อมูลของ อลัน สเติร์น หัวหน้าทีมตรวจสอบการเดินทางครั้งนี้ พบว่ามีโอกาสประมาณ 1 ใน 10,000 ที่ยานอวกาศลำนี้อาจพังสูญหายจากการชนกับเศษอุกกาบาตที่ลอยอยู่รอบพลูโต ดาวที่เคยถูกพิจารณาว่าเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด จนกระทั่งมันถูกลดระดับลงไปเป็นดาวเคราะห์แคระในปี 2006
ช่วงเวลาที่ยานอวกาศลำนี้จะเข้าใกล้ดาวพลูโตมากที่สุดคือ 7.49 น. ของวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น (18.49 น. ตามเวลาไทย) โดยทางทีวีของนาซาเริ่มรายงานตั้งแต่เวลา 7.30 น.
แต่ถึงกระนั้นมันก็จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง กว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ข้อมูลกลับมาจากยานลำนี้ เพราะว่ายานอวกาศ "นิว ฮอไรซอน" จะวุ่นอยู่กับการถ่ายภาพและเก็บรวบรวมข้อมูล ถือว่าเป็นยานลำแรกที่ไปเยือนดาวเคราะห์แคระดวงนี้ที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน นับตั้งแต่เริ่มมีภารกิจท่องอวกาศของนาซาในยุคปี 1970
ยานลำนี้จะส่งสัญญาณ "โฟน โฮม" กลับมายังโลกตอนเวลา 16.20 น. (3.20 น. ของวันพุธตามเวลาไทย) แต่คงจะกินเวลาอีกเกือบ 5 ชั่วโมง กว่าสัญญาณที่ว่าจะมาถึงมือนักวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ทางนาซาจึงจะไม่มีการประกาศใดๆ จนกว่าจะยานจะบินผ่านจุดนั้นแล้วประมาณ 13 ชั่วโมง ซึ่งจะตรงกับเวลา 21.02 น. (8.02 น. ของวันพุธตามเวลาไทย) ไม่ว่ายานลำนี้จะสามารถรอดจากการปะทะด้วยความเร็วสูงหรือไม่ก็ตาม
"ผมไม่ได้กังวลจนนอนไม่หลับเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ความจริงที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ ช่วงค่ำวันพรุ่งนี้มันจะต้องมีดราม่าเกิดขึ้นนิดหน่อยแน่ๆ" สเติร์น กล่าวในวันจันทร์
"เราไม่มีทางรู้จริงได้อย่างแน่นอนหรอก ว่าเราจะสามารถผ่านพ้นการสำรวจดาวดวงนั้นและไม่ชนเข้ากับเศษอุกกาบาต จนกว่าเราจะผ่านจุดนั้นในช่วงค่ำวันพรุ่งนี้" เขากล่าว
สเติร์นบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นหาถึงความเป็นไปได้ที่จะชนเข้ากับเศษอุกกาบาตแล้ว โดยไม่พบเรื่องที่น่ากังวล แต่ถึงกระนั้นการท่องอวกาศก็ยังเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง
สเติร์นได้ระบุถึงแถบวงแหวนวัตถุน้ำแข็งไคเปอร์ ซึ่งอยู่สุดขอบของระบบสุริยะ ใกล้กับดาวพลูโต ว่าจะต้องถูกถ่ายรูปมาได้ไม่มากก็น้อย พร้อมด้วยดาวหางขนาดเล็กช่วงเริ่มต้นอีกมากมาย กับสิ่งอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวพลูโต
ที่ผ่านมาไม่เคยมียานอวกาศลำไหนไปไกลถึงแถบวงแหวนวัตถุน้ำแข็งไคเปอร์มาก่อน โดยยาน "นิว ฮอไรซอน" นั้นใช้เวลาเดินทางนานมากกว่า 9 ปี เป็นระยะทางราว 3 พันล้านไมล์ โดยจะผ่านดาวพลูโตที่ระยะห่าง 7,767 ไมล์
"เรากำลังบินเข้าไปในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก" สเติร์น บอกนักข่าว
สเติร์นบอกว่า สิ่งที่มีการรับรู้กัน เกี่ยวกับดาวพลูโตในขณะนี้อาจเป็นเพียงแค่การ์ดข้อมูลไม่กี่ใบ แต่ข้อมูลที่ได้จากยานนิวฮอไรซอนจะเป็นเหมือนกับเปิดหนังสือทั้งเล่ม ที่เต็มไปด้วยความลึกลับของอวกาศ
ภารกิจการสำรวจของนาซาได้เคยยืนยันแล้วว่ามีดินแดนที่เป็นน้ำแข็งอยู่บนดาวพลูโต ทั้งยังพบไนโตรเจนไหลออกมาจากชั้นบรรยากาศของดาวพลูโตด้วย
สเติร์น ยังได้บอกด้วยว่า ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ดูเหมือนจะใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อนเล็กน้อย โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางความยาว 736 ไมล์
หลังจากยาน "นิว ฮอไรซอน" เข้าใกล้แล้วส่งขนาดที่แม่นยำชัดเจนกลับมา ก็จะทำให้การถกเถียงกันมานานนับทศวรรษเรื่องขนาดของดาวพลูโตยุติลงเสียที
นาซาบอกว่า ขนาดที่ใหญ่กว่าที่คาดนั้นจะทำให้ความหนาแน่นของดาวพลูโตน้อยกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ รวมถึงทำให้สัดส่วนน้ำแข็งบริเวณศูนย์กลางของดาวนั้นมากขึ้นด้วย
บรรดาภาพที่จะชวนให้ตกตะลึง กำลังจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน อาทิ บริเวณพื้นที่สีอ่อนรูปหัวใจที่อยู่ใกล้จุดดำ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า "เดอะ วาฬ"
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเข้าใกล้ครั้งนี้จะเป็นระยะที่ทำให้ได้รับข้อมูลชนิดที่ว่าถ้าหากส่งสวนเซ็นทรัลปาร์คไปไว้บนดาวพลูโต ก็จะสามารถระบุยืนยันถึงบรรดาหนองน้ำในเซ็นทรัลปาร์คได้เลย ขนาดของความละเอียดที่กำลังจะได้รับมันอยู่ในระดับนั้นเลย
"เรากำลังจะได้ทำแผนที่ด้วยกล้องสเตอริโอ ซึ่งนั่นจะทำให้เราได้เห็นว่าถูเขาสูงแค่ไหน หุบเหวลึกเพียงใด" นักวิทยาศาสตร์ ระบุ
ถัดจากนั้น นักวิทยาศาสตร์จะชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกเบื้องหลังดาวพลูโต โดยใช้อุปกรณ์ของยานในการสร้างภาพขนาดเต็มของดาวพลูโตและดวงจันทร์ทั้ง 5 ของมัน รวมถึงศึกษาฝุ่นผงในบริเวณรอบนอกของระบบสุริยะ กับชั้นบรรยากาศรอบดาวพลูโตกับชารอน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของมัน
นาซาระบุว่า การศึกษาดาวพลูโตให้มากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับสาธารณชน เพราะมันเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลกและคำถามที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือมีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งหรือไม่
"พลูโตเป็นเหมือนฟอสซิลของต้นกำเนิดระบบสุริยะของเรา เรากำลังจะได้เรียนรู้เรื่องที่ว่าเรามาจากไหน ทั้งยังเป็นการเปิดดินแดนใหม่ของการสำรวจ" นาซา ระบุ