xs
xsm
sm
md
lg

ภาพสี “พลูโต” ภาพแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพล่าสุดของพลูโตและชารอนจันทร์บริวาร ซึ่งบันทึกเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2015 (AFP PHOTO / HANDOUT / NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Southwest Research Institute)
นาซาปล่อยภาพสี “พลูโต” พร้อมจันทร์บริวารภาพแรก ระหว่างยานอวกาศ “นิวฮอไรซันส์” ขยับเข้าใกล้ดาวเคราะห์แคระในขอบระบบสุริยะ และจะเข้าใกล้มากที่สุดในวันที่ 14 ก.ค.นี้ พร้อมเตรียมส่งภาพความละเอียดกลับมายังโลก

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เผยภาพพลูโต (Pluto) และชารอน (Charon) ดวงจันทร์บริวารดวงใหญ่ที่สุดของพลูโต โดยภาพดังกล่าวบันทึกเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2015 ด้วยกล้องบันทึกภาพสี “Ralph” (Ralph) ที่ติดอยู่บนยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ของนาซา และเพิ่งเผยภาพให้ประชาชนได้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้

ตามกำหนดยานนิวฮอไรซันส์จะเฉียดใกล้พลูโตที่สุดในวันที่ 14 ก.ค. และจะส่งภาพถ่ายความละเอียดสูงที่ยังไม่ผ่านการปรับแต่งกลับมายังโลก เพื่อให้ชาวโลกได้เห็นรายละเอียดพื้นผิวของวัตถุอวกาศที่อยู่ไกลออกไปในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ที่ปลายระบบสุริยะ

ทั้งนี้ พลูโตเคยจัดเป็นหนึ่งใน 9 ดาวเคราะห์ของระบบสุริยะ และอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวเคราะห์อื่นๆ แต่เมื่อปี 2006 ได้ถูกลดขั้นลงเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” (dwarf planet)

ภายในพลูโตเป็นหินแข็งแต่ภายนอกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง พลูโตมีดวงจันทร์บริวาร 5 ดวง โดยทั้งหมดอยู่แถบไคเปอร์ซึ่งเป็นแถบบริเวณที่หลงเหลือจากยุคกำเนิดระบบสุริยะเมื่อกว่า 4.5 พันล้านปีก่อน และมีองค์ประกอบเป็นดาวหางและร่องรอยโครงสร้างของดาวเคราะห์ขนาดเล็ก

จากรายงานของเอเอฟพี อลัน สเติร์น (Alan Stern) หัวหน้าทีมศึกษาในปฏิบัติการนิวฮอไรซันส์กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้ฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่ โดยสามเดือนนับจากนี้ยานนิวฮอรไซันส์ของนาซาจะได้สำรวจพลูโตเป็นครั้งแรก รวมถึงแถบไคเปอร์ และบริเวณไกลสุดเท่าทึ่มนุษย์เคยออกไปสำรวจ

สำหรับขนาดของยานนิวฮอไรซันส์นั้นมีขนาดเท่ากับเปียโนหลังเล็กๆ หนักประมาณ 465 กิโลกรัม และเป็นยานอวกาศที่เดินด้วยความเร็วมากที่สุดเท่าที่เคยมีการส่งออกไป โดยเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 1.6 ล้านกิโลเมตรต่อวัน สู่เป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปกว่า 4.8 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน

นิวฮอไรซันส์อาศัยพลังงานนิวเคลียร์จากพลูโตเนียม เนื่องจากแสงอาทิตย์นั้นริบหรี่มากเมื่อเดินทางไปยังเป้าหมายที่ไกลขนาดนั้น ทำให้การใช้พลังงานจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์กับยานอวกาศไม่ได้ผล  

จากคำอธิบายของสเติร์นตอนนี้ยานนิวฮอไรซันส์อยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มที่ และยังบรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อการทดลองอีก 7 อย่าง เพื่อสำรวจวัตถุอวกาศที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และไม่มีองค์การอวกาศที่ไหนวางแผนทำการทดลองคล้ายกันนี้อีก โดยเป้าหมายคือการทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของพลูโตและดวงจันทร์บริวาร และนักวิทยาศาสตร์ยังคาดหวังที่จะได้ศึกษาชั้นบรรยากาศของพลูโตด้วย ซึ่งองค์ประกอบหลักๆ ของชั้นบรรยากาศดังกล่าวเป็นไนโตรเจนคล้ายกับโลก รวมทั้งหาคำตอบด้วยว่าทั้งพลูโตและชารอนนั้นมีมหาสมุทรซ่อนอยู่ภายใต้พื้นผิวหรือไม่






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น