นาซาเตรียมเผยภาพ “พลูโต” จากยาน “นิวฮอไรซอนส์” ในระยะใกล้สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ หลังจากส่งยานขึ้นไปเมื่อ 9 ปีก่อนเพื่อมุ่งสู่ “ดาวเคราะห์แคระ” อดีตสมาชิกดาวเคราะห์ระบบสุริยะ ทว่าด้วยแสงที่จางมาก คาดว่าจะได้เห็นดาวเคราะห์แคระพร้อมจันทร์บริวารดวงใหญ่สุดเป็นเพียงจุดสว่างที่มีพื้นหลังเต็มไปด้วยดาว
ไมค์ บัคลีย์ (Mike Buckley) โฆษกห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory) เผยแก่เอเอฟพีว่า ยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ถูกป้อนคำสั่งให้เริ่มบันทึกภาพดาวเคราะห์แคระพลูโตเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2015 อย่างไรก็ดีภาพดังกล่าวถูกบันทึกที่ระยะกว่า 200 ล้านกิโลเมตร ดังกล่าวนั้นภาพของพลูโตและชารอน (Charon) จันทร์บริวารดวงใหญ่ที่สุดของดาวเคราะห์แคระดวงนี้จะปรากฏเป็นเพียงภาพจุดสว่างท่ามกลางพื้นหลังที่เต็มไปด้วยดาว
ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ส่งยานนิวฮอไรซอนส์ขึ้นไปด้วยจรวดแอตลาส 5 (Atlas V) จากฐานปล่อยจรวดที่เคปคานาเวอรัล ตั้งแต่เดือน ม.ค.2006 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์แคระพลูโตโดยมีระยะทางไกลกว่า 4.8 พันล้านกิโลเมตร และนาซาได้ปลุกยานขึ้นจากภาวะจำศีลเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมภารกิจสำรวจดาวพลูโตและชารอน
ยานนิวฮอไรซอนส์จะเข้าใกล้ดาวพลูโตมากที่สุดในวันที่ 14 ก.ค.2015 ที่ระยะ 13,695 กิโลเมตร แต่ข้อมูลจากบีบีซีนิวส์ระบุว่า ด้วยความเร็วของยานที่ 14 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้ยานไม่สามารถโคจรรอบดาวเคราะห์แคระได้ แต่จะเคลื่อนผ่านแทน ส่วนรายงานจากเอเอฟพีระบุว่า เสร็จสิ้นภารกิจสำรวจพลูโตเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ยานจะเดินทางผ่านไปสำรวจวัตถุอื่นๆ ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งเป็นแถบวงแหวนของเศษซากที่หลงเหลือจากกำเนิดของระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน
สำหรับภาพแรกของพลูโตจากยานนิวฮอไรซอนส์จะถูกส่งกลับมายังโลกในสัปดาห์นี้ ซึ่งบัคลีย์ระบุว่า พวกเขาจะเผยแพร่ภาพดังกล่าวแก่สาธารณชนภายในเวลาไม่นานหลังจากได้รับสัญญาณภาพ และแม้จะมีเพียงแสงที่จางมากสะท้อนมาจากพื้นผิวดาวเคราะห์แคระ แต่นิวฮอไรซอนส์จะเก็บข้อมูลจากพื้นผิวพลูโตและชารอนได้มากพอที่จะสร้างแผนที่ภูมิประเทศของดาวเคราะห์แคระและดวงจันทร์ดังกล่าวทั้งสองดวงได้ โดยบนยานได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ 7 ช้น ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดอินฟราเรดและอัลตราไวโอเลต กล้องบันทึกภาพสี กล้องโทรทรรศน์ความละเอียดสูง และเครื่องวัดฝุ่นอวกาศ
ดาวพลูโตถูกค้นพบโดย ไคลด์ ทอมบอกจ์ (Clyde Tombaugh) เมื่อ 18 ก.พ.1930 และได้รับการตั้งชื่อตามเทพเจ้าในโลกบาดาลของโรมัน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลก และมีมวลน้อยกว่าโลกประมาณ 500 เท่า โดยพลูโตและดวงจันทร์บริวารทั้ง 5 ดวงใช้เวลา 147.7 ปีโคจรครบรอบดวงอาทิตย์
ก่อนนี้พลูโตเคยมีสถานะเป็นดาวเคราะห์ แต่เมื่อปี 2006 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ถอดพลูโตออกจากสถานะดังกล่าว และลดขั้นให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ ทำให้ระบุสุริยะมีดาวเคราะห์เป็นสมาชิกเหลือทั้งหมด 8 ดวง โดยภาพของพลูโตที่ชัดที่สุดที่มีเผยแพร่คือภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ของนาซาที่โคจรรอบโลก และภายให้เห็นภาพพลูโตเป็นริ้วส้มสลับแถบมืด
*******************************