จุดกระแสให้เป็นที่ถกเถียงอีกครั้งหนึ่งสำหรับสถานะของ “พลูโต” ว่าควรจะกลับมาเป็น “ดาวเคราะห์” อีกไหมหรือเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” อย่างที่เคยถูกลดขั้นต่อไป หลังนักดาราศาสตร์ในสรัฐฯ ร่วมอภิปรายและเปิดโหวตจนได้มติว่าพลูโตควรกลับมาเป็นสมาชิกดาวนพเคราะห์
เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนมีการประชุมของนักดาราศาสตร์ที่ศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิทโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) พร้อมกันการอภิปรายของนักดาราศาสตร์ 3 คน ว่า “พลูโต” ควรกลับมาเป็น “ดาวเคราะห์” อีกครั้งหรือไม่ หรือยังคงเป้น “ดาวเคราะห์แคระ” เหมือนเดิม หลังจากถูกลดสถานะไปเมื่อปี 2006
คลิปการอภิปรายนิยามดาวเคราะห์
2 ใน 3 ของนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมอภิปรายเห็นควรว่าพลูโตควรได้ยกระดับเป็นดาวเคราะห์อีกครั้ง จากนั้นได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปลงคะแนนเสียง และได้มติเอกฉันท์ว่าอดีตดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลที่สุดในระบบสุริยะควรกลับเข้ามาอยู่ในสถานะเดิม แต่การคืนตำแหน่งจะทำได้ง่ายดายอย่างนั้นหรือไม่ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้สอบถามไปยัง รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งเคยออกเสียงให้ลดสถานะพลูโตระหว่างการประชุมชองสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) หรือไอเอยู (IAU ) เมื่อ 8 ปีก่อน
“พลูโตกลับมาไม่ได้หรอก ไปโหวตกันตอนไหนเนี่ย ?” รศ.บุญรักษากล่าว พร้อมอธิบายว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางอวกาศล้ำหน้าไปมาก มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทำให้การสังเกตทางดาราศาสตร์ทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ที่ทำให้รู้ว่าในอวกาศ โดยเฉพาะในระบบสุริยะของเรามีวัตถุคล้ายดาวพลูโตจำนวนมาก เช่น ดาวเคราะห์น้อยอีรีส
“ถ้าหากบรรจุดาวพลูโตให้เป็นดาวเคราะห์แบบเดิม ก็แปลว่าจะต้องนำดาวที่คล้ายๆพลูโต ดาวเคราะห์น้อยต่างๆ ซึ่งมีอยู่นับไม่ถ้วนเข้ามาด้วยถึงจะเท่าเทียมกัน ถูกต้องไหม?” ผู้อำนวยการ สดร.ตั้งคำถาม
รศ.บุญรักษา ระบุว่า จะเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลได้ ต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อตามนิยามของไอเอยู ได้แก่1.มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2.มีรูปร่างค่อนข้างกลม และ 3.วงโคจรเป็นอิสระ อาจมีดาวบริวาร แต่ต้องเป็นดาวบริวารที่ชัดเจน โดยดาวเคราะห์ต้องมีอิทธิพลเหนือกว่าดาวบริวาร
นิยามทั้ง 3 ข้อเป็นเหตุผลที่ทำให้ดาวพลูโตถูกเปลี่ยนสถานะกลายเป็น “ดาวเคราะห์แคระ” เพราะดาวพลูโตมีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ ชื่อ “ชารอน” (Sharon) คล้ายดาวบริวาร เหมือนโลกกับดวงจันทร์ของโลกและดวงจันทร์ขนาดเล็กอีก 3 ดวงคือ นิกซ์ (Nix), ไฮดรา (Hydra), เคอร์เบอรอส (Kerberos) และ สติกซ์ (Styx) ซึ่งความจริง รศ.บุญรักษาอธิบายว่า ดาวพลูโตและดวงจันทร์ชารอน ทั้งสองดวงนั้นมีการโคจรควบคู่ซึ่งกันและกัน มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน จนดูเหมือนเป็นดาวเคราะห์คู่มากกว่าที่จะเป็นดาวเคราะห์กับดาวบริวาร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดาวพลูโตถูกไอเอยูแยกประเภทว่า พลูโตไม่ใช่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอีกต่อไป
“ไม่ใช่เรื่องแปลก ทำอะไรก็มีคนค้านได้ทั้งนั้น เพราะเมื่อ 8 ปีก่อนที่มีการอนุมัติให้ดาวพลูโตไม่อยู่ในระบบ ก็เป็นมติของนักดาราศาสตร์ที่เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่ง ในวันนี้ที่มีคนมาขอโหวตคืนก็อาจจะเป็นนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนั้น เมื่อ 8 ปีก่อน ขึ้นอยู่กับสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล เป็นหลักว่าจะตัดสินเป็นอย่างไร แต่ถ้าใช้เกณฑ์เดิม นิยามแบบเดิมผมฝันธงว่ายังไงพลูโตก็ไม่ได้กลับมา แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันหากมีการเล่นตลกเปลี่ยนคำนิยาม พลูโตอาจจะกลับมาก็ได้” รศ.บุญรักษากล่าวถึงโอกาสที่พลูโตจะได้กลับมาเป็นดาวเคราะห์อีกครั้ง
*******************************