นักดาราศาสตร์พบวัตถุน้ำแข็งสีชมพูซ่อนอยู่ในระบบสุริยะ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ใจกลางของระบบออกไป 7.5 พันล้านไมล์ และเป็นวัตถุที่สองที่พบอยู่เลยเขตแดนของพลูโตออกไป บ่งชี้ว่าดาวเคราะห์แคระประหลาดอย่าง “เซดนา” ที่ค้นพบเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายบริเวณดังกล่าว และยังมีวัตถุอีกมากที่รอการค้นพบ
จนถึงทุกวันนี้เชื่อว่าแถบบริเวณนอกเหนือจากดาวเคราะห์แคระพลูโตออกไป มีเพียงดาวเคราะห์แคระประหลาดอย่างเซดนา (Sedna) ที่ค้นพบเมื่อปี 2003 ที่อยู่อย่างเดียวดายในพื้นที่อันห่างไกลของระบบสุริยะ แต่ล่าสุดเอพีรายงานว่า นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบน้ำแข็งประหลาดสีชมพูอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไป 7.5 พันล้านไมล์
การค้นพบครั้งนี้ ทาง เดวิด ราบินโนวิทซ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เซดนาไม่ใช้ดาวเคราะห์แคระที่แปลกประหลาด และเชื่อว่ายังมีประชากรของวัตถุคล้ายๆ กันนี้รอให้สำรวจอีกมาก ทั้งนี้ เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ค้นพบเซดนา ดาวเคราะห์แคระที่ตั้งชื่อตามเทพเจ้าของชาวอินูอิตผู้สร้างสัตว์ทะเลแห่งอาร์กติก แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการค้นพบครั้งใหม่นี้
สำหรับงานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์นี้ เป็นผลจากการใช้เวลาที่แทบจะสูญเปล่าของนักดาราศาสตร์ เพื่อค้นหาวัตถุอื่นนอกจากเซดนา บริเวณแถบเย็นยะเยือกของระบบสุริยะที่เลยขอบเขตของพลูโตออกไป วัตถุดังกล่าวที่ค้นพบนั้นชื่อ 2012 VP113 และจากชื่อที่พ้องกับคำย่อของตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทำให้ทีมวิจัยตั้งชื่อเล่นขำๆ ให้แก่วัตถุดังกล่าวว่า “ไบเดน” ตามชื่อของรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน
ทีมของ สก็อตต์ เชพพาร์ด จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี ในวอชิงตัน ดี.ซี.และ ชาด ทรูชิลโย จากหอดูดาวเจมินี ในฮาวาย สหรัฐฯ ผู้อยู่ในทีมค้นพบเซดนา ได้ใช้กล้องตัวใหม่ที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินในชิลี ติดตามจนค้นพบ วีพี113 ซึ่งถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระเหมือนเซดนา แต่ไม่ได้ส่องสว่างเป็นสีแดงเจิดจ้าเหมือนกัน
ดาวเคราะห์แคระดวงใหม่มีสีค่อนไปทางชมพูมากกว่าและจางกว่ามาก ทำให้ยากต่อการค้นเจอ จากการวัดของนักดาราศาสตร์ ดาวเคราะห์แคระนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 280 ไมล์ หรือครึ่งหนึ่งของเซดนา และมีความเย็นยะเยือกด้วยอุณหภูมิที่ต่ำถึง - 257 องศาเซลเซียส ส่วนโลกของเรานั้นอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ศูนย์กลางของระบบสุริยะ 93 ล้านไมล์ และมีเส้นผ่านกลาง 7,900 ไมล์
สำหรับเซดนาและวีพีนั้นอยู่บริเวณด้านในของ “เมฆออร์ต” (Oort cloud) ซึ่งอยู่ที่ขอบด้านนอกของระบบสุริยะ และเป็นบริเวณที่ดาวหางบางดวงกำเนิด ซึ่ง ไมค์ บราวน์ นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้สังหารพลูโต” (Pluto killer) และเป็นหัวหน้าทีมในการค้นพบเซดนา ให้ความเห็นเชิงคาดเดาแก่เอพีว่า การค้นพบเซดนาที่อยู่แสนไกลนั้นค่อนข้างน่าประหลาด และเป็นเรื่องที่บังเอิญอย่างมาก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาบริเวณดังกล่าวให้เป็นที่อยู่ของวัตถุเช่นนั้นอีกมาก
เราไม่สามารถเห็นวัตถุในแถบเมฆออร์ตได้ทั้งหมดผ่านกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากวัตถุเหล่านั้นอยู่ไกลมาก และยังต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเซดนาและ วีพีถูกจับภาพได้เพราะอยู่ในระยะใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ซึ่งช่วยให้แสงจากดวงอาทิตย์กระทบกับวัตุทั้งสองแล้วสะท้อนกลับมาถึงหอดูดาวที่อยู่บนโลกได้ ทั้งนี้ วีพีเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์ค้นพบเป็นอันดับ 3 รองจากดาวเคราะห์แคระอีริส (Eris) และเซดนา โดยเซดนานั้นโคจรออกไปไกลดวงอาทิตย์ได้มากที่สุดที่ระยะ 84 พันล้านไมล์ ซึ่งนักดาราศาสตร์ยังค้นหาวัตถุเช่นนี้ต่อไป เพื่อทำความเข้าใจต่อการเกิดระบบสุริยะและวิวัฒนาการของระบบ