xs
xsm
sm
md
lg

ฤดูกาลแห่งการล่าดาวหาง

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายดาวหางไอซอน Comet ISON (C/2012 S1) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ขณะอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต (LEO) ซึ่งมีระดับความสว่างที่ 9 (ภาพโดย : ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi FSQ 106 ED / Focal length : 530 mm. / Aperture : f/5 / ISO : 3200 / Exposure : 30s)
​สำหรับเดือนนี้ถือเป็นฤดูกาลแห่งการล่าดาวหาง โดยดาวหางที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ก็คือ ดาวหางไอซอน Comet ISON (C/2012 S1) ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมและทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ติดตามถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ติดต่อกันหลายคืน เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของดาวหางดวงนี้

ในช่วงต้นเดือนนั้นทางทีมล่าดาวหางของเราสามารถจับภาพดาวหางไอซอนได้ และนำมาวัดค่าความสว่างปรากฏ พบว่าอยู่ที่ระดับ 9 ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์เท่านั้น
ภาพถ่ายดาวหางไอซอน Comet ISON (C/2012 S1) ถ่ายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์บนขาตามดาวด้วยซีซีดี (ภาพโดย : ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / Camera : SBIG ST-10 / Lens : Takahashi TOA-150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / Exposure : R:60s G:60s B:60s)
ภาพถ่ายดาวหางไอซอน Comet ISON (C/2012 S1) ถ่ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์บนขาตามดาวด้วยซีซีดี (ภาพโดย : ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / Camera : SBIG ST-10 / Lens : Takahashi FSQ-106ED / Focal length : 530 mm. / Aperture : f/5 / Exposure : L:60s x 20 Images)
ดาวหาง คืออะไร

​ดาวหาง คือ วัตถุชนิดหนึ่งในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีส่วนที่ระเหิดเป็นก๊าซเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดชั้นฝุ่นและก๊าซที่ฝ้ามัวล้อมรอบ และทอดเหยียดออกไปภายนอกจนดูเหมือนหาง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ไปบนนิวเคลียสของดาวหาง นิวเคลียสหรือใจกลางดาวหางคือ “ก้อนน้ำแข็งสกปรก” ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย และมีฝุ่นกับหินแข็งปะปนอยู่ด้วยกัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร มีถิ่นกำเนิดไกลออกไปนอกวงโคจรของดาวเคราะห์แคระพลูโต เรียกว่า หมู่เมฆออร์ต (Oort Cloud) นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นถิ่นที่มีก้อนน้ำแข็งอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปไกลจนพลังงานจากดวงอาทิตย์แผ่มาถึงน้อย ทำให้สภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิต่ำพอที่ก๊าซซึ่งระเหิดได้ง่ายสามารถแข็งตัวรวมกันเป็นก้อนได้

​เมื่อดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ลมสุริยะที่เข้ามาปะทะก็รุนแรงมากขึ้น ทำให้สสารในหัวของดาวหางระเหิดออกมาเป็นทางยาว เห็นเป็นหางของดาวหางได้ด้วยตาเปล่าได้ในระยะที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ หางของดาวหางมักจะปรากฏเป็นทางยาวหลายร้อยล้านกิโลเมตร และจะชี้ออกจากดวงอาทิตย์เสมอ เพราะถูกพัดออกโดยลมสุริยะ โดยดาวหางที่สว่างมากจนสามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้โดยง่ายมักเรียกว่าดาวหางใหญ่ นอกจากนี้ยังมีดาวหางประเภทเฉียดดวงอาทิตย์ ซึ่งมักจะแตกสลายเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากๆ อันเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงมหาศาล เป็นที่มาของฝนดาวตกต่างๆ และดาวหางอีกจำนวนนับพันดวงที่มีวงโคจรไม่เสถียร

จากการคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์ คาดว่าหลังจากที่ดาวหางไอซอน เคลื่อนที่เฉียดดวงอาทิตย์ อาจจะแตกสลายและเกิดเป็นฝนดาวตกในช่วงเดือนมกราคมของปีหน้าก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ นอกจากเราจะมีโอกาสได้ถ่ายภาพดาวหางสว่างแล้ว ยังมีของแถมเป็นฝนดาวตกอีกด้วยครับ
หางของดาวหางที่สวยมากๆ มักปรากฏให้เห็นเป็น 2 หาง ชัดเจน คือ หางฝุ่นและหางไออน ซึ่งบางครั้งจะเรียกกันว่า หางก๊าช
จากการรายงานของนักดาราศาสตร์ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของดาวหางไอซอนนี้ พบว่าดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่สามารถมองเห็นได้เมื่อสังเกตผ่านกล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 10 เท่า ขึ้นไป เมื่อสังเกตในสภาพท้องฟ้าที่ไม่มีแสงรบกวนและมีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดี และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ดาวหางดวงนี้ก็มีความสว่างเพิ่มขึ้น ในระดับ 5.5 เลยทีเดียว ซึ่งเป็นระดับความสว่างที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (วัตถุที่สว่างน้อยที่สุดที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความสว่างปรากฏ 6)
ภาพดาวหางไอซอน ถ่ายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 จากช่างภาพต่างประเทศที่เริ่มสามารถถ่ายภาพด้วยเลนส์ 50 mm. ได้แล้ว ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยหากพื้นที่ไหนมีสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ และไม่มีแสงรบกวนก็อาจเริ่มถ่ายภาพดาวหางได้แล้วเช่นกัน (ภาพโดย : Davidmurr / Camera : Canon EOS Rebel T2i / Lens : Canon EF 50mm / Focal length : 50 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 1600 / Exposure : 10s)
​ยิ่งดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสว่างมากขึ้น เพราะความร้อนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ก๊าซระเหิดออกมามากขึ้น และยังอาจทำให้ดาวหางแตกออกเป็นหลายส่วน ซึ่งทำให้น้ำแข็งที่อยู่ลึกใต้ผิวดาวหางเผยออกมาและเพิ่มปริมาณก๊าซให้กับส่วนโคมามากขึ้น และทำให้ความสว่างเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

​สำหรับการสังเกตหาดาวหางไอซอน นั้นสังเกตได้ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์โผล่พ้นจากขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกบริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ยิ่งใกล้ช่วงที่ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์มากที่สุด (ตำแหน่งที่ดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเรียกว่า เพอร์ริฮิเลียน) คือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ดาวหางจะปรากฏเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความสว่างของขอบฟ้าอาจกลบความสว่างดาวหางได้ จังหวะที่เหมาะสำหรับดูดาวหางไอซอนในช่วงนี้คือช่วง 100 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น การมีกล้องสองตาและแผนที่ดาวติดมือไปด้วยจะทำให้การมองหาดาวหางไอซอนทำได้ง่ายขึ้น
อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพดาวหางในช่วงต้นเดือน ที่ทางผมและทีมสถาบันฯ ใช้ในการถ่ายภาพดาวหางไอซอน ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางมีความสว่างน้อยมาก ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงใช้การค้นหาตำแหน่งดาวหางด้วยการระบุตำแหน่งของดาวหางในซอฟแวร์และสั่งงานให้กล้องชี้ไปยังตำแหน่งดาวหางที่ต้องการ
เทคนิคและวิธีการสำหรับการถ่ายภาพดาวหาง

​สำหรับการถ่ายภาพดาวหางนั้น “ไม่ใช่เรื่องยากและก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหากเรารู้เวลารู้สถานที่ก็ไม่ยากที่จะถ่ายภาพมันได้ แต่หากเราไม่มีข้อมูลไม่ทราบตำแหน่งทิศทางและช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็ยากที่จะถ่ายภาพดาวหางได้ครับ เอาล่ะครับสำหรับช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่เราเริ่มที่จะสามารถถ่ายภาพดาวหางได้ด้วยกล้องถ่ายภาพทั่วไปได้แล้ว คือไม่จำเป็นต้องถ่ายแบบตั้งกล้องบนขาตามดาว (เหมือนกับแบบที่ผมใช้ในช่วงต้นเดือนนะครับ) มาดูกันครับ
ภาพถ่ายดาวหางเลิฟจอย Comet Lovejoy (C/2013 R1) ถ่ายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์บนขาตามดาวด้วยซีซีดี (ภาพโดย : ทีมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / Camera : SBIG ST-10 / Lens : Takahashi TOA-150 / Focal length : 1100 mm. / Aperture : f/7.3 / Exposure : L:90s R:60s G:60s B:60s)
​1. สิ่งแรกสำหรับการถ่ายภาพดาวหาง คือการหาตำแหน่งของดาวหางว่าอยู่บริเวณไหนของท้องฟ้า และจะสามารถสังเกตได้ในช่วงเวลากี่โมง สำหรับดาวหางไอซอน นั้นสังเกตได้ทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ตั้งแต่ช่วงเวลาตี 4 โดยประมาณ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ดังภาพข้างต้น

2. “หาตัวช่วย” กล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยรวมแสงให้เราสังเกตเห็นดาวหางได้ง่ายขึ้น โดยการมองกวาดหาบริเวณตำแหน่งใกล้กับกลุ่มดาวอ้างอิง เนื่องจากกล้องจะมีกำลังการรวมแสงได้มากกว่าตาเปล่าของเรา

3. “ลองผิด ลองถูก” เมื่อทราบตำแหน่งและทิศทางของดาวหางคร่าวๆ แล้ว อาจลองถ่ายภาพดาวหางโดยเลือกใช้ความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 และปรับค่ารูรับแสงกว้างที่สุด และปรับโฟกัสที่ระยะอินฟีนีตี้ และอาจใช้เวลาในการถ่ายภาพสัก 30 วินาที

4. “ความไวชัตเตอร์” เมื่อได้ตำแหน่งดาวหางแล้ว อาจปรับค่าความไวชัตเตอร์ไปที่ 10 วินาที ก่อนก็ได้หากภาพสว่างเกินเกินไปก็เพิ่มเวลาในการถ่ายแต่ไม่ควรเกิน 30 วินาที เพราะอาจทำให้ดาวหางเบลอหรือยืดได้ ทั้งนี้ที่ผมแนะนำไปอาจไม่ถูกเสมอไปครับ ควรทดลองถ่ายหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด

5. “รูรับแสงกว้างไว้ก่อน” แน่นนอนครับคงไม่ต้องบอกก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว การถ่ายภาพในที่สภาพแสงน้อยๆ ก็ควรเปิดค่ารูรับแสงให้กว้างที่สุดเพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพครับ

6. “ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง” เพราะการถ่ายภาพดาวหางเราอาจต้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องค้างไว้หลายวินาที ดังนั้นเพื่อป้องการการสั่นไหวของภาพก็ควรถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องเสมอ

7. “เปิดระบบลดสัญญาณรบกวน” เนื่องจากช่วงเวลาในการถ่ายภาพของเราเป็นช่วงเย็ยสภาพแสงค่อนข้างน้อย ซ้ำการถ่ายภาพยังต้องเปิดหน้ากล้องนานๆ และใช้ความไวแสงสูง ย่อมเกิดสัญญาณรบกวน ดังนั้นเพื่อให้คุณภาพของภาพที่ดี ควรเปิดระบบลดสัญญาณรบกวน (Noise Reduction) ของกล้องไว้ด้วย

8. “สุดท้ายคือ ไฟล์ RAW” เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

​ทั้งนี้ ในช่วงนี้นอกจากดาวหางไอซอนที่สามารถสังเกตเห็นผ่านกล้องสองตาแล้ว ยังมีดาวหางสว่างอีกดวง คือ ดาวหางเลิฟจอย Comet Lovejoy (C/2013 R1) ที่สามารถสังเกตเห็นได้อีกดวงหนึ่ง ซึ่งมีระดับความสว่างที่ 8.3 โดยปรากฏอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวสิงโต (Leo) ด้วยเช่นกัน
ทีมล่าดาวหาง จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


ภาพแสดงตำแหน่งของดาวหางไอซอนในเดือนพฤศจิกายน (ภาพโดย Chris Marriott)




เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น