xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์แปดริ้วชวนจับตา “ไอซอน” ดาวหางแห่งศตวรรษเฉียดดาวแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดาวหางไอซอนเมื่อ 10 เม.ย.56 โดยกล้องฮับเบิล
ปราชญ์ดาราศาสตร์จากเมืองแปดริ้วชวนจับตา “ไอซอน” ดาวหางแห่งศตวรรษเฉียดใกล้ดาวอังคารในวันที่ 1 ต.ค.นี้ และจะเฉียดมาใกล้โลกในวันที่ 1 พ.ย. ช่วงปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค. ดาวหางจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่หน้าสนใจว่าส่วนหัวของดาวหางจะระเหิดมากน้อยแต่ไหน

วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ชาวบ้านจาก จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งข่าวมายังทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในวันที่ 1 ต.ค.56 นี้ ดาวหางไอซอน (ISON) หรือ C/2012 s1 จะเฉียดใกล้ดาวอังคาร ในระยะใกล้ 104,718 กิโลเมตร และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด 29 พ.ย.56 ที่ระยะ 4,817,055 กิโลเมตร หรือ 0.0322 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) ขนาดความสว่าง - 4.5 หรือความสว่างประมาณดาวศุกร์ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ช่วงเช้ามืดปลายเดือน พ.ย. และต้นเดือน ธ.ค. ทั่วประเทศไทย

นักดาราศาสตร์รัสเซีย คือ วิตาลี เนฟสกี (Vitali Nevski) และ อาร์ทยม โนวิโชนอค (Artyom  Novichonok) เป็นผู้ค้นพบดาวหางไอซอน จากการสังเกตท้องฟ้าที่เมืองคิสโลวอดส์ก รัสเซีย ด้วยกล้องสะท้อนแสงขนาด 16 นิ้ว ซึ่งอยู่ในเครือข่ายกล้องสะท้อนแสงทางวิทยาศาสตร์นานาชาติ (International  Scientific Optical  Network: ISON) เมื่อ 21 ก.ย.2555 ที่ผ่านมา

“ดาวหางไอซอนเป็นดาวหางประเภทเฉียดดวงอาทิตย์ ( Sungrazing ) ส่วนนิวเครียสหรือส่วนหัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ ประมาณ  5 กิโลเมตร โดยความสว่างของดาวหางไอซอน ขึ้นอยู่กับว่าส่วนหัวของดาวหางขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จะระเหิดมากน้อยขนาดไหน จะแตกเป็นหลายชิ้นหรือไม่” ข้อมูลจากวรวิทย์ระบุ






สำหรับดาวหางประเภทเฉียดดวงอาทิตย์ที่มีความสว่างมากถึง -10 และเห็นได้ในเวลากลางวัน คือดาวหาง C/1965 S 1 อิเคยะเซกิ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ในระยะใกล้ที่ 1,166,864 กิโลเมตร วันที่ 21 ต.ค.08 และส่วนหัวได้แตกออกเป็น สามหัวขณะถอยห่างจากดวงอาทิคย์

“ส่วนดาวหางไอซอนหลังจากเฉียดดาวอังคาร วันที่ 1 ต.ค.แล้ว จะเดินทางมาถึงและผ่านมายังวงโคจรของโลกพอดี วันที่ 1 พ.ย.56และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดวันที่ 29 พ.ย. แล้วจะเริ่มถอยหลังออกห่างจากดวงอาทิตย์ไป ขณะเดียวกันวันที่ 14 ม.ค.57โลกเราจะโคจรมาถึงตำแหน่งเดียวกับที่ดาวหางไอซอนเพิ่งเคลื่อนผ่านไปเมื่อวันที่ 1  พ.ย.56 ดังนั้น วันที่ 12 - 15 ม.ค.57 โลกของเราจะผ่านเข้าไปในเศษฝุ่นผงที่ดาวหางทิ้งไว้ อาจจะทำให้เกิดปรากฎการณ์ฝนดาวตกชุดใหม่ซึ่งน่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง” วรวิทย์ระบุ
ภาพแสดงวงโคจรและตำแหน่งดาวหางไอซอนกับดาวอังคาร
โนวิโชนอค (ซ้าย) และ เนฟสกี (ขวา) ผู้ค้นพบดาวหางไอซอน
ภาพดาวอังคาร






กำลังโหลดความคิดเห็น