ปราชญ์ดาราศาสตร์เมืองแปดริ้วชวนชม “ดาวหาง” มาให้ดูพร้อมกัน 2 ดวง คือ “แพนสตาร์ส” และ “เลมมอน” ระหว่าง 5-15 มี.ค.นี้ แต่สังเกตยากเพราะไม่สว่างมากนัก และต้องอยู่ในพื้นที่สูงและบริเวณที่ขอบฟ้าต้องใสมากๆ จึงมีโอกาสได้เห็น ดังนั้น ชาวกรุงหมดสิทธิ์อย่างแน่นอน
วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปรชญ์ชาวบ้านจาก จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งมายังทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ระหว่างวันที่ 5-15 มี.ค.นี้ จะมีดาวหางสองดวงโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด และพอที่จะสังเกตได้ในประเทศไทย คือ ดาวหาง ซี/2011 แอล4 แพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) และ (C/2012 F6 Lemmon) แต่จะสังเกตยากมาก ต้องอยู่ในพื้นที่สูงและบริเวณที่ขอบฟ้าต้องใสมากๆ จึงจะเห็นได้
สำหรับดาวหางแพนสตาร์สนั้นถูกค้นพบเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.54 จากการถ่ายภาพด้วยกล้องแพนสตาร์ส (Panstarrs 1) ขนาด 1.8 เมตร เป็นกล้องแบบริทชีย์-เครเชียน (Ritchey-chretien) ของหอดูดาวในฮาวาย สหรัฐฯ โดยค้นพบขณะดาวหางมีความสว่าง 19.4-19.6 ดาวหางดวงนี้มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 110,000 ปี และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มี.ค.นี้ และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มี.ค.ที่ 0.3016 หน่วยดาราศาสตร์ โดยมีความเร็วขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด 76.7 กิโลเมตรต่อวินาที
“การสังเกตดาวหางดวงนี้ใประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ ตั้งแต่วันที่ 5-15 มี.ค.โดยเห็นได้ด้วยกล้องสองตา บน ท้องฟ้าช่วงหัวค่ำขณะที่ดวงอาทิตย์เรี่มตกดิน ซึ่งในวันที่ 5 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 17 องศาและสูงจากขอบฟ้า 13 องศา วันที่ 9 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างเยื้องดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 5 องศา และสูงจากขอบฟ้า 13 องศา และในวันที่ 15 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศเหนือ 13 องศาและสูงจากขอบฟ้า 13 องศา โดยรวมดาวหางสว่างประมาณ 2.8 หลังจากนั้น จะสังเกตไม่ได้เนื่องจากอยู่ระนาบเดียวกับดวงอาทิตย์ จะสังเกตได้อีกครั้งหลังวันที่ 15 เม.ย.เป็นต้นไปในช่วงเช้ามืด แต่ความสว่างลดลงและต้องสังเกตด้วยกล้องดูดาวเท่านั้น” วรวิทย์ระบุ
ส่วนดาวหาง เลมมอนถูกค้นพบเมื่อ 23 มี.ค.55 โดยทีมเลมมอนเซอร์เวย์ ( Lemmon survey) ที่ยอดเขาเมาท์เลมมอน (Mt.Lemmon) ทางตอนเหนือของเมืองทูซอน แอริโซนา สหรัฐฯ จากการถ่ายภาพด้วยกล้องขนาด 1.5 เมตร ซึ่งดาวหางดวงนี้มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 11,180 ปี จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด 24 มี.ค.56 ที่ 0.7313 หน่วยดาราศาสตร์ โดยมีความเร็วขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด 76.7 กิโลเมตรต่อวินาที
“การสังเกตดาวหางดวงนี้ใประเทศไทย เริ่มสังเกตได้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ถึง 15 มี.ค. สามารถเห็นได้ด้วยกล้องสองตา บน ท้องฟ้าช่วงหัวค่ำขณะที่ดวงอาทิตย์เรี่มตกดิน โดยวันที่ 5 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 53 องศาและสูงจากขอบฟ้า 15 องศา ในวันที่ 9 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างเยื้องดวงอาทิตย์ไปทางใต้ 52 องศาและสูงจากขอบฟ้า 9 องศา ในวันที่ 15 มี.ค.ดาวหางจะอยู่ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศใต้ 45 องศาและสูงจากขอบฟ้า 5 องศา” ปราชญ์จากฉะเชิงเทรา กล่าว
โดยรวมความสว่างของดาวหางประมาณ 2.5 หลังจากนั้น จะไม่สามารถสังเกตได้เนื่อง จากดาวหางอยู่ระนาบเดียวกันกับดวงอาทิตย์ จะสังเกตได้อีกครั้งหลังวันที่ 15 เม.ย.ป็นต้นไป ทางท้องฟ้าช่วงเช้ามืด ซึ่งความสว่างของดาวหางก็ลดลงต้องใช้กล้องดูดาวเท่านั้นจึงจะสังเกตดาวหางได้ เช่นเดียวกับกรณีของดาวหางแพนสตาร์ส
“เนื่องจากดาวหางทั้งสองดวงอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก การสังเกตดาวหางต้องหาที่โล่งและควรเป็นที่สูงด้วย และขอบฟ้าวันที่สังเกตต้องใสไม่มีเมฆหรือหมอกควันมาบดบัง จึงจะสามารถมองเห็นดาวหางได้ พื้นที่ในกรุงเทพฯ หมดสิทธิ์เห็นแน่นอน” วรวิทย์ กล่าว