xs
xsm
sm
md
lg

คนภูเก็ตเฝ้าติดตามดาวหางแพนสตาร์สเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชมรม Sky Club Phuket เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) จะโคจรมาใกล้โลก และดวงอาทิตย์ แต่ยังไร้วีแววเหตุท้องฟ้ามีหมอกมาก
ชมรม Sky Club Phuket เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ดาวหาง แพนสตาร์ส
ผศ.ศักดิ์ชาย เพชรช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในฐานะประธานชมรม Sky Club Phuket กล่าวถึงการเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) โคจรมาใกล้โลก และดวงอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 8-17 มี.ค.2556 ว่า ตามที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ออกมาระบุว่า ระหว่างวันที่ 8-17 มี.ค.นี้ ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) จะโคจรมาใกล้โลก และดวงอาทิตย์
ผศ.ศักดิ์ชาย เพชรช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ในฐานะประธานชมรม Sky Club Phuket
โดยสามารถดูได้ด้วยตาเปล่าบนเส้นขอบฟ้าบริเวณกลุ่มดาวปลา หากฟ้าใส และปราศจากแสงรบกวน ซึ่งสามารถเห็นได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ ดาวหางดังกล่าวสุกสว่างมากที่สุดเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มี.ค. ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกดินประมาณ 30 นาที หันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) เป็นดาวหางหนึ่งใน 3 ดวง ที่คาดว่าจะสว่างสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงปีนี้ ซึ่งอีก 2 ดวง คือ ดาวไอซอน (C/2012 S1 ISON) และดาวเลมมอน (C/2012 F6 Lemmon) โดยดาวหางไอซอน จะเห็นได้ในปลายปี ส่วนเลมมอน ซึ่งสว่างที่สุดในช่วงเข้าใกล้โลก และดวงอาทิตย์ในเดือนมีนาคม 56 อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย
เด็กๆให้ความสนใจรอดูปรากฏการณ์ดาวหาง
ผศ.ศักดิ์ชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเฝ้าติดตามดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้น ทางชมรม Sky Club Phuket ได้เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ดาวหางดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนำกล้องดูดวงไปตั้งที่บริเวณลานลานประภาคาร แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวที่สนใจได้มีโอกาสดูดาวหางดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งจากการนำกล้องดูดาวไปตั้งพบว่าได้รับความสนใจจากเด็กๆ ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่แหลมพรหมเทพเป็นอย่างมาก ส่วนสาเหตุที่เลือกจุดแหลมพรหมเทพก็เนื่องจากเป็นจุดอ้างอิงของจังหวัดภูเก็ต และเป็นจุดที่สามารถมองเห็นดาวหางได้ง่ายที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม การจะดูดาวหางดังกล่าวสามารถดูจากจุดไหนก็ได้ของประเทศไทย
เด็กๆให้ความสนใจเฝ้าดูดาวหาง
สำหรับการเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ของชมรม Sky Club Phuket ตั้งแต่วันที่ 8-10 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถมองเห็นดาวหางดังกล่าวได้ เนื่องจากท้องฟ้าทีหมอกหนาบริเวณเส้นขอบฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเฝ้าติดตามดาวหางดังกล่าวทางชมรมจะเฝ้าติดตามต่อไป โดยวันนี้ (11 มี.ค.) จะไปตั้งกล้องดูดาวที่บริเวณโคกชนะพม่า ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ส่วนวันที่ 12-13 มี.ค. จะกลับไปดูที่แหลมพรหมเทพเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามจากอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ จังหวัดอื่นๆ พบว่า มีหลายจังหวัดที่สามารถมองเห็นดาวหางดังกล่าวแล้ว
ตั้งหน้าตั้งตารอดูดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
ผศ.ศักดิ์ชาย กล่าวต่อไปว่า การดูดาวหางแพนสตาร์ส จะดูได้หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าประมาณ 30 นาที โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และจะต้องดูจากสถานที่ที่ขอบฟ้าเปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือสังเกตจากอาคารสูง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของนักดาราศาสตร์ระบุ ว่า จากวงโคจรของดาวหางแพนสตาร์สที่ปรากฏ แสดงว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ดาวหางดังกล่าวเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ และคาดว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาอักครั้งในอีกประมาณ 110,000 ปี
ดวงอาทิตย์กำลังจะตกน้ำที่บริเวณแหลมพรหมเทพวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น