xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อมถ่ายภาพ “ดาวหางแพนสตาร์ส”

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส วันที่ 1 มีนาคม 2556 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศออสเตรเลีย (ภาพโดย : Colin Legg ช่างภาพประเทศออสเตรเลีย)
ในช่วงนี้กระแสดาวเคราะห์น้อยชนโลกคงมาแรงมากๆ และในขณะเดียวกันในปี 2556 นี้ ก็ยังมีกระแสเรื่องดาวหางสว่างไม่น้อยเช่นกันครับ ใช่แล้วครับคอลัมน์นี้เราอแนะนำ “ดาวหางสว่าง ในปี 2556” โดยจะขอเลือกเอาเฉพาะที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยเท่านั้น

ปีนี้เรามีโอกาสจะได้เห็นดาวหางสว่างกันถึง 2 ดวงด้วยกัน โดยนักดาราศาสตร์คาดว่าอาจสว่างจนสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดวงแรกมีชื่อว่า ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) จะสังเกตเห็นได้ในเดือนมีนาคม อีกดวงหนึ่งมีชื่อว่า ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON) และจะสังเกตเห็นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ถึงต้นเดือนมกราคม 2557 ซึ่งหากดาวหางไม่เกิดการแตกสลายไปเสียก่อน คาดว่าจะมีความสว่างเกือบเท่าดวงจันทร์วันเพ็ญ และจะเป็นดาวหางที่สุกสว่างที่สุดในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

ในคอลัมน์นี้ผมอยากนำการสังเกต ดาวหางแพนสตาร์ส ซึ่งเราจะสามารถสังเกตเห็นได้ในเดือนมีนาคมนี้กันครับ
ดาวหาง Hartley 2 และกระจุกดาวคู่ NGC 884 กับ NGC 869 ในคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2553 (ภาพโดย : ศรัณย์ โปษยะจินดา, ศุภฤกษ์ คฤหานนท์, สิทธิพร เดือนตะคุ : Canon EOS 500D / Takahashi FSQ 106 ED 530 มม. / F5 / ISO 1600 / 30 วินาที)
ดาวหาง คืออะไร
คือ วัตถุชนิดหนึ่งในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีส่วนที่ระเหิดเป็นแก๊สเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดชั้นฝุ่นและแก๊สที่ฝ้ามัวล้อมรอบ และทอดเหยียดออกไปภายนอกจนดูเหมือนหาง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ไปบนนิวเคลียสของดาวหาง นิวเคลียสหรือใจกลางดาวหางเป็น “ก้อนหิมะสกปรก” ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย และมีฝุ่นกับหินแข็งปะปนอยู่ด้วยกัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร

แท้จริงแล้ว ดาวหาง ก็คือก้อนน้ำแข็งสกปรก ที่ประกอบด้วยน้ำแข็งและก๊าชแข็งหลายชนิดรวมทั้งฝุ่นที่ปะปนอยู่ ก้อนน้ำแข็งเหล่านี้มีถิ่นกำเนิดไกลออกไปนอกวงโคจรของดาวพลูโต เรียกว่า หมู่เมฆออร์ต (Oort Cloud) นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นถิ่นที่มีก้อนน้ำแข็งอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปไกลจนพลังงานจากดวงอาทิตย์แผ่มาถึงน้อย ทำให้สภาวะแวดล้อมที่อุณหภูมิต่ำพอที่ก๊าชซึ่งระเหิดได้ง่ายสามารถแข็งตัวรวมกันเป็นก้อนได้

เมื่อดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ลมสุริยะที่เข้ามาปะทะก็รุนแรงมากขึ้น ทำให้สสารในหัวของดาวหางระเหิดออกมาเป็นทางยาว เห็นเป็นหางของดาวหางได้ด้วยตาเปล่าได้ในระยะที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ หางของดาวหางมักจะปรากฏเป็นทางยาวหลายร้อยล้านกิโลเมตร และจะชี้ออกจากดวงอาทิตย์เสมอ เพราะถูกพัดออกโดยลมสุริยะ

หางของดาวหางที่สวยมากๆ มักปรากฏให้เห็นเป็น 2 หาง ชัดเจน คือ หางฝุ่นและหางไออน ซึ่งบางครั้งจะเรียกกันว่า หางก๊าช (ข้อมูลจาก : เอกภพ เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาล /วิภู รุโจปการ)

การสังเกตดาวหางแพนสตาร์ส - C/2011 L4 (PANSTARRS)
ตำแหน่งดาวหางเมื่อสังเกตจากประเทศไทยในช่วงวันที่ 3-24 มีนาคม 2556 บริเวณขอบฟ้าทิศตะวันตก ในเวลา 18.30 น. (หางอาจจางกว่า และความยาวของหางอาจสั้นกว่าที่แสดงในภาพ) คาดว่าดาวหางน่าจะสว่างที่สุดในช่วงวันที่ 8-12 มีนาคม ที่แมกนิจูด 2 (ใกล้เคียงความสว่างของดาวเหนือ) โดยดาวหางจะเคลื่อนต่ำลงเรื่อย ๆ และตกลับขอบฟ้าไปในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เนื่องจากดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปประมาณ 15 องศา
ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม เป็นต้นไป หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า หากวันไหนฟ้าไม่มีเมฆมาก ให้ลองสังเกตหาดาวหางบริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก ซึ่งดาวหางดวงนี้จะใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม 2556 โดยโอกาสที่จะเห็นได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย จะอยู่ในช่วงวันที่ 8-12 มีนาคม ซึ่งดาวหางจะอยู่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุด และยังเป็นช่วงที่ดาวหางจะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์มีสุกสว่างมากที่สุดในวันที่ 10 มีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้

โดยสังเกตได้หลังดวงอาทิตย์ตกดินประมาณ 30 นาที หันหน้าไปทางทิศตะวันตกอยู่ใกล้ขอบฟ้าในกลุ่มดาวปลาคู่ และควรอยู่บริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงรบกวน ในสถานที่ไม่มีสิ่งใดบดบัง เช่น บนยอดดอย บริเวณสถานที่โล่งกว้าง บนยอดตึกสูง เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะสังเกตได้ยากและอาจจะเห็นในส่วนของหางเท่านั้น เนื่องจากดาวหางอยู่ใกล้กับขอบฟ้า และควรใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อุปสรรคสำคัญในการสังเกตดาวหางดวงนี้ในช่วงดังกล่าว คือดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 15° จึงมีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนตกลับขอบฟ้า และดาวหางจะอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก จึงต้องสังเกตจากสถานที่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตกเปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือสังเกตจากอาคารสูง และอาจต้องใช้กล้องสองตาช่วยกวาดหาบริเวณขอบฟ้า ตาเปล่ามีโอกาสเห็นได้ หากดาวหางสว่างมาก มีหางยาว และท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆหมอกและฝุ่นควันบดบัง
ตำแหน่งดาวหางกับดวงจันทร์ ข้างขึ้น 1 ค่ำ ในวันที่ 13 มีนาคม 2556 ขณะอยู่ใกล้กันที่ระยะห่าง 5 องศา ซึ่งหากดาวหางมีความสว่างตามที่คาดการณ์ไว้ ส่วนตัวผมคิดว่าวันที่ 13 มีนาคม หากสามารถถ่ายภาพดาวหางเคียงดวงจันทร์ได้ก็น่าจะเป็นภาพที่สวยมากๆ ครับ
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ (ภาพโดย : Steven Graham : Canon EOS 5D Mark lll / F2.8 / ISO 3200 / 2 วินาที)
เทคนิคและวิธีการ
สำหรับการถ่ายภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่าดาวหางนั้นจะสามารถสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก นั้นหมายถึง ดาวหางจะอยู่ในแสงสนธยา ท้องฟ้าที่ไม่มืดสนิท และตำแหน่งดาวหางที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้การถ่ายภาพดาวหางนั้นค่อนข้างยากสักหน่อย แต่ก็พอที่จะแนะนำวิธีการได้บ้างพอสังเขปครับ

1. “สิ่งแรกสำหรับการถ่ายภาพ” ก็คือการสังเกตท้องฟ้าในช่วงเย็นว่า ท้องฟ้าปลอดโปร่งหรือไม่มีเมฆมากหรือไม่ หากท้องฟ้าไม่เป็นใจก็ยากที่จะถ่ายภาพได้ ดังนั้นหากวันไหนที่ท้องฟ้าใสเคลียร์ก็ไม่ควรพลาดโอกาสวันดีๆ ที่จะสังเกตดาวหางทางทิศตะวันตก ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

2. “หาตัวช่วย” ตัวช่วยที่ว่านี้ก็คือ กล้องสองตานั้นเองหลังจากดวงอาทิตย์ตกแล้วอาจใช้กล้องสองตาในการช่วยกวาดหาบริเวณขอบฟ้า เนื่องจากกล้องจะมีกำลังการรวมแสงได้มากกว่าตาเปล่าของเรา

3. “ลองผิด ลองถูก” หากเริ่มสังเกตเห็นดาวหางด้วยตาเปล่าแล้วอาจ เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยค่าความไวแสงสูงๆ ไว้ก่อน เพื่อทดลองว่าภาพที่ถ่ายได้สว่างมากเกินไปหรือน้อยเกิน แล้วจึงปรับค่าชดเชยอีกครั้ง ซึ่งการถ่ายภาพในสภาพที่ท้องฟ้าแตกต่างกันค่าความไวแสงที่ใช้ก็อาจจะต่างกันด้วย จึงไม่มีค่าตายตัวในการถ่ายภาพครับ

4. “ความไวชัตเตอร์” อาจปรับค่าความไวชัตเตอร์ไปที่ 10 วินาที ก่อนก็ได้หากภาพสว่างเกินเกินไปก็เพิ่มเวลาในการถ่ายแต่ไม่ควรเกิน 30 วินาที เพราะอาจทำให้ดาวหางเบลอหรือยืดได้ ทั้งนี้ที่ผมแนะนำไปอาจไม่ถูกเสมอไปครับ ควรทดลองถ่ายหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด

5. “รูรับแสงกว้างไว้ก่อน” แน่นนอนครับคงไม่ต้องบอกก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว การถ่ายภาพในที่สภาพแสงน้อยๆ ก็ควรเปิดค่ารูรับแสงให้กว้างที่สุดเพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพครับ

6. “ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง” เพราะการถ่ายภาพดาวหางเราอาจต้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องค้างไว้หลายวินาที ดังนั้นเพื่อป้องการการสั่นไหวของภาพก็ควรถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องเสมอ

7. “เปิดระบบลดสัญญาณรบกวน” เนื่องจากช่วงเวลาในการถ่ายภาพของเราเป็นช่วงเย็ยสภาพแสงค่อนข้างน้อย ซ้ำการถ่ายภาพยังต้องเปิดหน้ากล้องนานๆ และใช้ความไวแสงสูง ย่อมเกิดสัญญาณรบกวน ดังนั้นเพื่อให้คุณภาพของภาพที่ดี ควรเปิดระบบลดสัญญาณรบกวน (Noise Reduction) ของกล้องไว้ด้วย

8. “สุดท้ายคือ ไฟล์ RAW” เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

จากที่ได้แนะนำข้างต้น ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน เตรียมการในการถ่ายภาพดาวหางแพนสตาร์ส ซึ่งเราจะมีโอกาสได้เห็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในช่วงชีวิตของเรา เนื่องจากดาวหางมีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา ซึ่งหมายความว่ามันจะไม่กลับมาให้เราได้เห็นอีกแล้ว หรืออาจเรียกสนุกๆ ว่า “ดาวหางแดดเดียว” เพราะมันจะโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์เพียงครั้งเดียวเท่านั้นครับ
ภาพแสดงการเคลื่อนที่ในวงโคจรของดาวหางในรูปแบบต่างๆ




เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น