xs
xsm
sm
md
lg

สดร.ทำสำเร็จ ถ่ายภาพแรก “ดาวหางแพนสตาร์” เหนือฟ้าเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ในวันที่ 9 มีนาคม 2556 เวลา 19.03 น. ณ จุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส สดร.)
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ บันทึกภาพแรก “ดาวหางแพนสตาร์” เหนือฟ้าเมืองไทยสำเร็จ ที่จุดชมวิวดอยปุย เชียงใหม่ หลังเฝ้าสังเกตการณ์มาหลายคืน คาดคืนนี้ (10 มี.ค.) สว่างที่สุด เชิญชวนผู้สนใจร่วมติดตามปรากฏการณ์

วันนี้ (10 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. นำโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. ร่วมสังเกตการณ์ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ที่บริเวณจุดชมวิวดอยปุย จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.วานนี้ (9 มี.ค.) จนกระทั่งเวลา 18.48 น. ดร.ศรัณย์ ได้เริ่มสังเกตเห็นดาวหางโผล่ทางขอบฟ้าทิศตะวันตก โดยสังเกตเห็นผ่านกล้องสองตาชัดเจน และในเวลา 18.57 น. นายรณภพ ตันวุฒิบันฑิ หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่ สามารถบันทึกภาพดาวหางไว้ได้เป็นภาพแรก และสามารถสังเกตเห็นดาวหางได้จนถึงเวลา 19.23 น.

ทั้งนี้ ในการสังเกตดาวหางด้วยตาเปล่าค่อนข้างลำบาก เนื่องดาวหางอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก จึงต้องสังเกตจากสถานที่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตกเปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือสังเกตจากอาคารสูง และจำเป็นต้องใช้กล้องสองตาช่วยกวาดหาบริเวณขอบฟ้า ส่วนตาเปล่ามีโอกาสเห็นได้หากดาวหางสว่างมากกว่านี้ มีหางยาว และท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆหมอก และฝุ่นควันบดบัง

สำหรับดาวหางแพนสตาร์ C/2011 L4 (PANSTARRS) เป็นดาวหางแบบไม่มีคาบ ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้ามาตัดกับวงโคจรของโลก ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.2011 ด้วยกล้องโทรทรรศน์แพนสตาร์ส ตามโครงการแพนสตาร์ส (Pan-STARRS ย่อมาจาก Panoramic Survey Telescope & Rapid Response System ซึ่งนักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญ และติดตามการเคลื่อนที่ของดาวหางดวงอย่างใกล้ชิด สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า หากวันไหนฟ้าไม่มีเมฆมาก ให้ลองสังเกตหาดาวหางบริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก ซึ่งดาวหางดวงนี้ใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม

โอกาสที่จะเห็นได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย อยู่ในช่วงวันที่ 8-17 มีนาคม ซึ่งดาวหางอยู่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุด โดยเฉพาะวันที่ 10 มีนาคม จะเป็นช่วงที่ดาวหางจะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ และสุกสว่างมากที่สุด ซึ่งทาง สดร.จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วม เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ในวันที่ 9 มีนาคม 2556 เวลา 19.12 น. ณ จุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส สดร.)  E
ภาพถ่ายดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ในวันที่ 9 มีนาคม 2556 เวลา 19.01 น. ณ จุดชมวิวดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพโดย : กรกมล  ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส สดร.)
กำลังโหลดความคิดเห็น