xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ท้องถิ่นชวนดูดาวหางลูกใหม่พุ่งเฉียดดวงอาทิตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - นักดาราศาสตร์ท้องถิ่นแปดริ้ว ชวนดูดาวหางลูกใหม่พุ่งเฉียดดวงอาทิตย์ สัมผัสปรากฏการณ์แรกเริ่มได้ในช่วงต้นเดือนหน้า ขณะพุ่งเฉียดดาวอังคารให้ดูก่อนเป็นยกแรก เผยชาวโลกสามารถจับตาได้อย่างใกล้ชิดจากกล้องถ่ายภาพในยานสำรวจบนดาวอังคาร ก่อนจะวนอ้อมดวงอาทิตย์โชว์ให้เห็นเด่นชัดในอีกหนึ่งเดือนถัดไป พร้อมทิ้งร่องรอยฝุ่นไว้ให้ชาวโลกได้ชื่นชม และเฝ้าติดตามกับการกำเนิดใหม่ของฝนดาวตกอีกชุดได้ในอนาคต

วันนี้ (16 ก.ย.) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ท้องถิ่น ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยที่หอดูดาวเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ประจำภูมิภาค (ภาคกลาง-ภาคตะวันออก) ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2012 นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซีย คือ Vitali Nevski และ Artyom Novichonok ได้ค้นพบดาวหาง ISON หรือ C/2012 s1 ซึ่งถูกตั้งชื่อให้เป็นไปตามโครงการของหน่วยงานที่ค้นพบ (International Scientific Optical Network) ที่บริเวณใกล้กับเมือง Kislovodsk ในประเทศรัสเซีย ด้วยกล้องแบบสะท้อนแสงขนาด 16 นิ้ว

สำหรับความสำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจต่อการค้นพบในครั้งนี้ คือ ดาวหางดวงดังกล่าวนี้เป็นดาวหางประเภทเฉียดดวงอาทิตย์ (Sungrazing) ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของส่วนหัว (นิวเครียส) ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีวงรอบของการโคจรเข้ามาเยือนในระบบสุริยจักรวาลประมาณ 345 ปีต่อหนึ่งครั้ง ซึ่งมนุษย์ในยุคนี้คงมีโอกาสที่จะได้ดูเพียงครั้งเดียว โดยการโคจรเข้ามานั้นจะโคจรเข้ามาในแนวระนาบเดียวกันกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล ซึ่งโชคดีที่ไม่ตรงกับจังหวะของการพุ่งชน ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงออกไปในลักษณะฉีกงัดขึ้นเหนือแนวระนาบประมาณ 35-40 องศา จากดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ ดาวหางดวงดังกล่าวยังอาจจะทิ้งเศษฝุ่นจากการถูกดวงอาทิตย์เผาไหม้เอาไว้ในขณะที่โคจรเข้ามาใกล้ และจะทิ้งเป็นร่องรอยที่อาจก่อให้เกิดเป็นฝนดาวตกให้มนุษย์ชาวโลกได้คอยเฝ้าติดตามชื่นชมไปได้อีกยาวนาน เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษฝุ่นดาวหางดังกล่าวที่ทิ้งไว้ ในแต่ละวงรอบของดวงอาทิตย์ หรืออาจมีฝนดาวตกเกิดใหม่ขึ้นในแต่ละรอบปีให้ได้ติดตามเฝ้าชมนั่นเอง

ขณะเดียวกัน ในการโคจรเข้ามาในครั้งนี้ชาวโลกผู้สนใจยังสามารถคอยเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการโคจรเฉียดดาวอังคาร ในระยะ 104,718 กิโลเมตร ในวันที่ 1 ต.ค.56 นี้ ซึ่งสามารถสัมผัสได้อย่างใกล้ชิดจากภาพถ่ายจากยานต่างๆ ที่ถูกมนุษย์ส่งไปสำรวจดาวอังคารโดยเฉพาะนาซา (NASA) ซึ่งมีการคาดหวังว่าจะสามารถทำการบันทึกภาพส่งกลับลงมายังโลกได้ในระยะที่ได้เห็นแบบชัดเจน

จากนั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 จะโคจรเข้าใกล้ไปถึงยังดวงอาทิตย์ในระยะ 4 ล้าน 817,055 กิโลเมตร (0.0322 AU หน่วยดาราศาสตร์) เพื่อไปวนอ้อมดวงอาทิตย์ก่อนโคจรกลับออกไป และจะถูกดวงอาทิตย์เผาไหม้จนมีความสว่างใกล้เคียงกันกับดาวศุกร์ ที่มีค่าความสว่าง ลบ 4.5 จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเหนือขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด (ประมาณตี 4 เป็นต้นไป) ตลอดปลายเดือน พ.ย.จนถึงช่วงต้นเดือน ธ.ค.56 สังเกตการณ์ได้ทั่วทั้งประเทศไทย และเชื่อว่าจะไม่มีอุปสรรคในเรื่องของกลุ่มเมฆฝนมาบดบัง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว

ขณะสิ่งที่น่าจับตาดูอีกประการหนึ่งของดาวหางดวงนี้ว่า จะมีการระเหิดจากการถูกดวงอาทิตย์เผาไหม้มากน้อยเพียงใด หรือจะถูกเผาจนแตกออกเป็นชิ้นๆ จนมีหลายหัวเกิดขึ้นแบบดาวหางอิเคยะ เซกิ (C/1965 S1) เมื่อปี พ.ศ.2508 ที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 1 ล้าน 166864 กิโลเมตร จนถูกเผาระเหิดแตกออกเป็น 3 หัว และมีความสว่างมากถึง ลบ 10 นอกจากนี้ ในวันที่ 14 ม.ค.57 โลกจะโคจรไปถึงยังตำแหน่งที่ดาวหาง ISON ตัดผ่านวงโคจรโลกในช่วงขาเข้า ซึ่งจะมีเศษฝุ่นของดาวหางจากการระเหิดออกมาทิ้งเอาไว้ จนชาวโลกอาจได้เห็นเป็นปรากฏการณ์ของฝนดาวตกชุดใหม่เกิดขึ้นอีกหนึ่งชุดก็เป็นไปได้

วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ท้องถิ่น ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา
กำลังโหลดความคิดเห็น