xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าฝนไม่ตกจะได้ชวนแม่ไปชม “ฝนดาวตก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ปี ค.ศ. 2012 จากรัฐวายโอมิ่ง สหรัฐอเมริกา ภาพดาวตกจำนวนมากเกิดจากการถ่ายฝนดาวตกจำนวนหลายๆ ภาพ แล้วนำมารวมกันในภาพๆ เดียว ด้วยซอฟต์แวร์ (ภาพโดย David Kingham : www.davidkinghamphotography.com)
ถ้าไม่มีฝนจะได้ชวนแม่ไปชม “ฝนดาวตก”
ช่วงหน้าฝนและใกล้ “วันแม่” นี้มีฝนดาวตกที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็นฝนดาวตกแห่งปี แต่สำหรับคนไทยอาจต้องลุ้นกับสภาพอากาศว่าเหมาะจะพาคุณแม่ไปชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สวยๆ ดังกล่าวได้หรือไม่

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.ระบุว่า ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม เวลาประมาณ 01:00 -04:00 น. หรือช่วงเช้ามืดของวันที่ 13 สิงหาคมตามเวลาในประเทศไทย จะเกิดปรากฏการณ์ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คาดจำนวน 60-100 ดวงต่อชั่วโมง หากปลอดฝนสามารถเห็นได้ทั่วไทย โดยภาคใต้มีโอกาสลุ้นชมมากที่สุด

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า จุดศูนย์กลางการกระจายฝนดาวตกอยู่บริเวณกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) และกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) โดยฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์นับเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงวันที่ 17 ก.ค. - 24 ส.ค.ของทุกปี

"ฝนดาวตกชุดนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศแถบซีกโลกเหนือ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเดือน ส.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นช่วงกลางฤดูฝน ทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ยกเว้นในบริเวณภาคใต้ตอนล่างที่เป็นช่วงฝนค่อนข้างน้อย จึงนับเป็นโอกาสทองของชาวใต้ที่จะได้ชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น” ดร.ศรัณย์ระบุ

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหาง สวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านี้ จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ สังเกตเห็นฝุ่นของดาวหางลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบ และถึงแม้ว่าเศษฝุ่นของดาวหาง สวิฟท์-ทัตเทิล จะถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว แต่เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านี้ก็ยังทำให้ชาวโลกได้สัมผัสความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์นี้เป็นประจำทุกปี
ภาพโลกโคจรเข้าไปในสายธารของสะเก็ดดาว ซึ่งดาวหาง สวิฟท์- ทอทเทิล ได้เหลือทิ้งไว้ หลังจากที่มาเยือน ระบบสุริยะชั้นในซึ่งครั้งล่าสุดที่ดาวหางดวงนี้เข้ามาใกล้คือ ปี ค.ศ. 1992 (ภาพโดย Bob King :http://astrobob.areavoices.com )
ตำแหน่งของกลุ่มดาวเพอร์เซอุสอยู่ด้านล่างของกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (Cassiopeia) ซึ่งเป็นกลุ่มดาว ประจำซีกฟ้าและสามารถหาได้ง่าย






กำลังโหลดความคิดเห็น