“ศุภฤกษ์ คฤหานนท์” คอลัมนิสต์บทความภาพถ่ายดาราศาสตรพร้อมทีมงาน “กลุ่มดาวคนแบกกล้อง” ขนกล้องนับสิบตัวขึ้นไปเก็บภาพ “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” บนยอดดอยอินทนนท์ แต่ได้ภาพฝนดาวตกที่ไม่เป็นที่รู้จักติดมาหลายภาพ
เมื่อคืนวันที่ 17 พ.ย.55 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 พ.ย.ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และคอลัมนิสต์ “มหัศจจรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” พร้อมทีมงาน “กลุ่มดาวคนแบกกล้อง” ได้นำกล้องนับสิบตัวขึ้นไปบันทึกปรากฏการณ์ฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” (Leonids) ณ ยอดดอยอินทนนท์
อย่างไรก็ดี ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ให้ข้อมูลว่าภาพที่บันทึกได้ และนำเผยแพร่แก่สาธารณะนั้นมีหลายภาพที่เป็นภาพฝนดาวตก “อัลฟาโมโนเซโรติดส์” (Alpha Monocerotids) ที่มีความเร็วถึง 65 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักนัก เนื่องจากมีจำนวนน้อย แต่ก็มีความสว่างใกล้เคียงฝนดาวตกลีโอนิดส์ และมีช่วงเวลาเกิดคาบเกี่ยวกัน นอกจากนี้ ยังมีฝนดาวตกเทาริดส์ (Taurids) ที่มีเกิดคาบเกี่ยวในช่วงนี้ด้วย และทุกคืนยังมีดาวตกทั่วไปอีกเฉลี่ยประมาณคืนละ 12 ดวง
“ท้องฟ้าบนยอดดอยอินทนนท์นั้นใสมาก จึงทำให้เห็นฝนดาวตกและดาวตกได้หลายชุดพร้อมๆ กัน แต่เมื่อลองลากเส้นดาวตกไปยังจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) จะทำให้ทราบว่าเป็นฝนดาวตกชุดไหน ซึ่งเมื่อลากเส้นจากภาพที่ทีมงานถ่ายได้ จึงทราบว่า ไม่ใช่ลีโอนิดส์ ส่วนถ้าเป็นเทาริดส์มีเส้นสั้นๆ” ดร.ศรัณย์ อธิบาย
รองผู้อำนวยการ สดร.ให้ข้อมูลอีกว่าช่วงเวลาที่โลกจะตัดผ่านสายธารของฝุ่นดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) คือช่วงกลางวันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดฝนดาวตกจำนวนมาก แต่เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้ อย่างไรก็ดี ฝนดาวตกอีกชุดที่น่าติดตามคือ เจมินิดส์ (Geminids) ในเดือน ธ.ค.ซึ่งเป็นฝนดาวตกที่มีจำนวนมากจริง แต่ความสว่างอาจไม่มากเท่าลีโอนิดส์
พร้อมกันนี้ ทาง สดร.ยังได้จัดกิจกรรม “เปิดฟ้า...ตามหาดาว (สัญจร)” ณ ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ กม.31 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งมีประชาชนกว่า 200 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟังบรรยายเกี่ยวกับการดูดาวเบื้องต้น และขึ้นไปติดตามปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์บริเวณยอดดอย ซึ่งในช่วงเที่ยงคืนมีอุณหภูมิประมาณ 10 องศา และลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยช่วงเวลาที่กลุ่มดาวสิงโต (Leo) ซึ่งเป็นจุดกระจายฝนดาวตกขึ้นจากขอบฟ้า คือ ประมาณ 02.00 น.และเป็นช่วงเวลาของการเริ่มสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์