xs
xsm
sm
md
lg

17-18 พ.ย.อย่าพลาด! ราชาฝนดาวตก “ลีโอนิดส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อปี 2554 (ศุภฤกษ์ คฤหานนท์)
สดร.- สดร.ชวนชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” ราชาฝนดาวตก ที่มีจุดกระจายฝนดาวตกจากกลุ่มดาวสิงโต ระหว่าง 17-18 พ.ย. และปีนี้ยังไม่มีแสงจันทร์รบกวน คาดว่า มีฝนดาวตกสูงสุด 15 ดวงต่อชั่วโมง

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.เชิญชวนประชาชนชม “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” (Leonids meteor shower) ราชาแห่งฝนดาวตก ซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 17-18 พ.ย.55 ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พ.ย.ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 18 พ.ย.และช่วงเวลาที่คาดว่าเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือ เวลาเที่ยงคืนถึง 05:00 น.ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวสิงโตซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกลีโอนิดส์

“ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมฝนดาวตกลีโอนิดส์กันอย่างจุใจ เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ หลังเที่ยงคืนเมื่อดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ท้องฟ้าจะมืดสนิท เหมาะในการชมฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเห็นดาวตกมากถึง 15 ดวงต่อชั่วโมง” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนตกกลุ่มดาวสิงโต จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือน พ.ย.ของทุกปี เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว โลกของเราได้เคลื่อนที่เข้าไปตัดกับสายธารของฝุ่นดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ทิ้งไว้ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์ และเป็นดาวหางที่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โดยมีทิศการโคจรรอบดวงอาทิตย์สวนทางกับทิศการโคจรของโลก เมื่อโลกโคจรตัดผ่านสายธารฝุ่นที่เป็นเศษซากของดาวหางดวงนี้จะทำให้เกิดฝนดาวตกที่มีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วมากถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที

ในการชมปรากฏการณ์สามารถสังเกตดาวตกได้จากทุกทิศทุกทางที่มาจากศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวสิงโต และเกิดฝนดาวตกขึ้นทั่วท้องฟ้า จึงควรหาสถานที่ที่มีท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน และมีอุปกรณ์สำหรับสังเกตการณ์ เช่น เก้าอี้พับ หรือเสื่อสำหรับนอนชมปรากฏการณ์ และอาจเตรียมกระดาษและปากกาสำหรับบันทึกจำนวนฝนดาวตก หรือกล้องสำหรับบันทึกภาพ

สำหรับดาวตกดวงไหนมีขนาดใหญ่ มีแสงสว่างและหางยาวมาก และเห็นรอยดาวตกทิ้งไว้เป็นทาง ซึ่งจะเรียกว่าฝนดาวตกลูกไฟ (Fireball) และฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีจำนวนลูกไฟมาก คือเมื่อปี 2541 ส่วนครั้งต่อไปที่คาดว่าจะฝนดาวตกลูกไฟมากอีกครั้งคือในปี 2574

ข้อมูลทั่วไปของฝนดาวตกลีโอนิดส์
    ดาวหางแม่ : 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle)
    ศูนย์กลางการกระจาย : กลุ่มดาวสิงโต
    ช่วงเวลาการเกิด : 7 - 28 พฤศจิกายน 2555
    ช่วงเวลาที่เกิดมากที่สุด : 17 -18 พฤศจิกายน 2555
    จำนวนดาวตก ณ ช่วงเวลาที่เกิดมากที่สุด : ประมาณ 15  ดวงต่อชั่วโมง
    เวลาที่เหมาะสมแก่การสังเกต : หลังจากดวงจันทร์ได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว ประมาณหลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ถึงเช้ามืดของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555
    ความเร็วของดาวตก :  71 กิโลเมตร/วินาที
ภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์ในวันที่ 18 พ.ย.55 เวลา 03.00 น.
ภาพการโคจรของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (space.com)






กำลังโหลดความคิดเห็น