xs
xsm
sm
md
lg

ออสซี่ได้ชม “สุริยุปราคา” ชุดเดียวกับที่หว้ากอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยุปราคาที่พาดผ่านออสเตรเลียครั้งนี้ เป้นสุริยุปราคาชุดเดียวกับที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงทอดพระเนตร และรัชกาลที่ 4 ทรงพยากรณ์เวลาการเกิดไว้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 133 เช่นเดียวกัน (ภาพสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี 2552 ที่ประเทศจีน โดย วรวิทย์ ตัณวุฒิบันฑิต)
สดร.-เช้าวันที่ 14 พ.ย.55 ชาวออสเตรเลียส่วนหนึ่งมีโอกาสได้ชมสุริยุปราคาเต็มดวง และเป็นคราสชุดเดียวกับสุริยุปราคา ที่สมเด็จพระนารายณ์ ทรงทอดพระเนตร และชุดเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณการเกิดไว้อย่างแม่นยำ พร้อมกันนี้ ทีมนักวิชาการไทยได้เดินทางไปเก็บภาพบรรยากาศและปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ 14 พ.ย.55 ตามเวลาของประเทศไทยจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา (Solar Eclipse) หรือที่เรียกว่า สุริยคราส ขึ้นเป็นครั้งที่สองของปี 2555 และเป็นปรากฏการการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) ชุดซารอสที่ 133 แต่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากประเทศไทย เพราะแนวทางคราสเต็มดวงจะเคลื่อนที่พาดผ่านทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียและทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

เนื่องจากบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น ไม่มีผืนแแผ่นดิน เราจึงไม่สามารถตั้งฐานในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ จะเหลือแค่เพียงพื้นที่ทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียที่จะมีความเหมาะสมในการตั้งฐานสังเกตการณ์มากที่สุด โดยระยะเวลาในการเกิดปรากฏการณ์ตั้งแต่เริมต้นจนจบเป็นเวลายาวนานถึง 3.1 ชั่วโมง และโอกาสนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้นำคณะไปบันทึกภาพปรากฏการณ์ครั้งนี้ด้วย

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์เคลื่อนที่มาสัมผัสกับผิวโลกในที่นี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 02:37 น.ตามเวลาของประเทศไทย ส่วนปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเงามืดของดวงจันทร์เคลื่อนที่มาสัมผัสกับผิวโลกซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 03:35 น.เงามืดจะเคลื่อนตัวพาดผ่านทางตอนเหนือของรัฐควีนสแลนด์ (Queensland)

พื้นที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นตั้งฐานสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้คือบริเวณเมืองแคนส์ (Cairns) ของประเทศออสเตรเลีย เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านกินพื้นที่เป็นวงกว้าง 30 กิโลเมตร ผู้สังเกตจะสามารถสังเกตการณ์สุริยุปราคาในขณะเต็มดวงเป็นเวลานานถึง 2.23 นาที ในขณะนั้นดวงอาทิตย์จะสูงจากขอบฟ้าประมาณ 14 องศา หลังจากนั้น เงามืดของดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ออกจากบริเวณดังกล่าว

แนวคราสเต็มดวงจะเคลื่อนที่พาดผ่านทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในบริเวณนั้นไม่มีเกาะ หรือหมู่เกาะขนาดใหญ่ๆ ที่จะตั้งฐานสังเกตการณ์สุริยุปราคาได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเพราะในช่วงดังกล่าวเงามืดของดวงจันทร์จะพาดผ่านและกินพื้นที่เป็นวงกว้างถึง 179 กิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงเป็นเวลานานถึง 4.02 นาที เงามืดของดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ออกไป ก่อนจะไปสิ้นสุด คือ หลุดออกจากผิวโลกในมหาสมุทรบริเวณตอนใต้ของประเทศชิลี เวลา 06:48 น.จากนั้นเงามัวของดวงจันทร์ก็เคลื่อนตัวจะหลุดออกจากผิวโลกเวลา 07:46 น.ถือเป็นการสิ้นสุดสุริยุปราคาครั้งนี้

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งที่ 45 ใน 72 ครั้งของชุดซารอสที่ 133 โดยซารอสชุดนี้มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ เป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสเดียวกันกับสุริยุปราคาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงทอดพระเนตร ที่พระที่นั่งเย็น เมืองละโว้ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2231 (ครั้งนั้นประเทศไทยมองเห็นได้แค่บางส่วน) และเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงชุดเดียวกับที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ทรงคำนวณและเสด็จฯไปทอดพระเนตรที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เกิดขึ้นได้เฉพาะวันเดือนดับ (New Moon) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และเคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันพอดีโดยวันเดือนดับจะเกิดขึ้นทุกๆ 29.5 วัน แต่ปรากฏการณ์สุริยุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน ทั้งนี้ เป็นเพราะระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกับวงโคจรของโลกแต่จะเอียงทำมุมประมาณ 5 องศาทำให้มีบางโอกาสเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลกจะโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน แต่โดยปกติแล้วเงาของดวงจันทร์จะไม่ทอดลงบนโลกเมื่อดวงจันทร์อยู่เหนือ หรือใต้ระนาบวงโคจรของโลกในช่วงเดือนดับ
แผนภาพแสดงการพาดผ่านของสุริยุปราคาในตำแหน่งต่างๆ ของออสเตรเลีย (eclipse2012.org.au)
ลักษณะของสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์มีรูปค่อนข้างรี ดังนั้น ตำแหน่งและระยะห่างของดวงจันทร์กับโลก จะทำลักษณะของการเกิดสุริยุปราคาที่แตกต่างกัน ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้น ขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์และขนาดของดวงจันทร์ จะใกล้เคียงกันสามารถทับซ้อนกันได้เกือบพอดี สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะระยะทางจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนแล้วปรากฏว่ามีขนาดปรากฏใกล้เคียงกัน

ประเภทของสุริยุปราคา
สุริยุปราคาจะแบ่งตามลักษณะเงาของดวงจันทร์ที่ตกกระทบพื้นผิวโลกและค่าอัตราส่วนระหว่างขนาดปรากฏของดวงจันทร์กับขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ในขณะเกิดปรากฏการณ์ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

1.ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse)
2.ปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse)
3.ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse)
4.ปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบผสม (Hybrid Solar Eclipse)

ความถี่ในการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา
การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้นจะเกิดขึ้นได้ปีละประมาณ 2-5 ครั้ง โดยโอกาสการเกิดปรากฏการณ์สองครั้งต่อปีมีมากถึงร้อยละ 75 แต่โอกาสที่เกิดปรากฏการณ์ปีละ 5 ครั้งนั้นมีน้อยมากโดยครั้งล่าสุกเกิดเมื่อปี พ.ศ.2478 และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2749

สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 13 พ.ย.55 (ตามเวลาประเทศไทย)
เวลาขณะที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลกเรียงตัวอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน = 05:07 น.
เวลาขณะกึ่งกลางคราส = 05:11 น.
ค่าอันดับความสว่างปรากฏของสุริยุปราคาเต็มดวง = 1.0500
ซารอสที่ 133 ครั้งที่ 45 ใน 72 ครั้ง







กำลังโหลดความคิดเห็น