ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งก่อนการเดินทางไปสังเกตการณ์เพื่อบันทึกภาพปรากฏการณ์และเก็บข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ เราได้เตรียมอุปกรณ์ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์มุมแคบ มุมกว้าง กล้องบันทึกวีดีโอและ อุปกรณ์ตรวจวัดค่าต่างๆ ขณะเกิดปรากฏการณ์ มีการวางแผนก่อนการปฏิบัติงานจริงมีการทดสอบอุปกรณ์หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากช่วงเวลาขณะเกิดปรากฏการณ์เต็มดวงมีเวลาเพียง 2 นาที 4 วินาที เท่านั้น เรียกได้ว่าเป็น 2 นาที 4 วินาที ที่มีค่ามากที่สุด
ผมเองรับหน้าที่ในการถ่ายภาพมุมกว้าง ตั้งแต่ก่อนเกิดปรากฏการณ์จนสิ้นสุดปรากฏการณ์ โดยผมเลือกใช้เลนส์มุมกว้างชนิดพิเศษ เป็นเลนส์ Fish Eye ทางยาวโฟกัส 8 mm. ทำให้มุมรับภาพกว้างกว่า 360 องศาทั่วท้องฟ้า ซึ่งทาง บริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ได้ให้ความอนุเคราะห์ให้ยืมมาใช้ ทำให้ภาพท้องฟ้ามุมกว้างขณะเกิดปรากฏการณ์แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าได้อย่างชัดเจนขณะเกิดปรากฏการณ์
สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ตามเวลาประเทศออสเตรเลีย และถือเป็นครั้งพิเศษ ซึ่งเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 133 โดยเป็นชุดเดียวกันกับสุริยุปราคาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทอดพระเนตร โดยครั้งแรกคือสุริยุปราคาเต็มดวงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งเย็น เมืองละโว้ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 (ประเทศไทยมองเห็นได้แค่บางส่วน) และครั้งที่ 2 คือสุริยุปราคาเต็มดวงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สุริยุปราคา เกิดขึ้นได้อย่างไร
สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์ดับ(New Moon) เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้งโอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น
ลักษณะของสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์มีรูปค่อนข้างรี ดังนั้นตำแหน่งและระยะห่างของดวงจันทร์กับโลก จะทำลักษณะของการเกิดสุริยุปราคาที่แตกต่างกัน ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้นขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์และขนาดของดวงจันทร์ จะใกล้เคียงกันสามารถทับซ้อนกันได้เกือบพอดี สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะระยะทางจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนแล้วปรากฏว่ามีขนาดปรากฏใกล้เคียงกัน
โดยสุริยุปราเต็มดวงครั้งนี้มีระยะเวลาเต็มดวงนาน 2 นาที 4 วินาที ในการเดินทางไปสังเกตการณ์และบันทึกภาพ รวมทั้งเก็บข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ นำทีมโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งผมก็ได้ติดตามไปสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย
ในการเดินทางไปสังเกตการณ์สุริยุปราคา สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องเดินทางไปยังบริเวณที่เงาของดวงจันทร์พาดผ่าน ซึ่งเรามักเรียกกันว่า แนวแถบ Centerline ซึ่งเป็นบริเวณประเทศออสเตรเลีย นั่นหมายถึงเราต้องเดินทางไปยังเมืองแคนส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริเวณที่จะเกิดปรากฏการณ์
ก่อนการเดินทางได้มีการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าว่าจะมีลมและความชื้นมาจากทางใต้ของเมืองแคนส์ ก่อนเกิดปรากฏการณ์ 2 วัน ทีมเราได้ออกสำรวจสถานที่ที่จะใช้เป็นจุดสังเกตการณ์เพื่อตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพและอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูล หลายแห่งด้วยกัน โดยผมใช้แอพพลิเคชั่น บนไอโฟนชื่อ Eclipses ในการสำรวจสถานที่สังเกตการณ์ ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะสามารถบอกว่าเราอยู่ใกล้กับตำแหน่งแนวคลาสการเกิดปรากฏหรือไม่แค่ไหน
ในการสำรวจสถานที่นั้น ก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นเพราะบางสถานที่ที่เราคิดว่าน่าจะใช้เป็นจุดสังเกต แต่พอเดินสำรวจโดยรอบก็พบกับป้ายแจ้งเตือนว่า บริเวณนี้มีจะเข้ เล่นเอาตกใจกันไปตามๆกัน และสุดท้ายเมื่อเวลา 18.00 น. ของการเกิดปรากฏการณ์ เราก็ตัดสินใจเลือกที่เมือง Palm cove เป็นที่สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ เนื่องจากภูมิประเทศของเมือง Palm cove อยู่ริมทะเล เพื่อหลีกหนีเมฆที่ก่อตัวบริเวณภูเขาที่เมืองแคนส์ จะได้มาไม่ถึงบริเวณจุดสังเกตการณ์ ก่อนเกิดปรากฏการณ์เราเดินทางมาถึงสถานที่สังเกตการณ์ตั้งแต่เวลา 02.50 น. โดยเลือกตั้งกล้องบริเวณสะพานที่ทอดยาวถึงทะเล ซึ่งเรียกได้ว่าเราตั้งกล้องกันในทะเลเลยทีเดียวก็ว่าได้
ตั้งแต่สัมผัสที่ 1 หลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าไม่นานดวงอาทิตย์ก็เข้าไปอยู่ในเมฆเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เราลุ้นกันมากที่สุด เพราะหากดวงอาทิตย์ยังคงอยู่ในเมฆต่อไปอีกก็จะทำให้เราพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงไปเลย และทุกอย่างที่เราวางแผนไว้จะจบลงด้วยความผิดหวังไปกับเมฆ แต่โชคก็เข้าข้างเรา ก่อนเกิดสัมผัสที่ 2 คือก่อนการเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร (The diamond ring effect) ประมาณ 8 นาทีก่อนหน้า ดวงอาทิตย์ก็ได้เคลื่อนโผล่บริเวณช่องว่างสีฟ้าระหว่างก้อนเมฆ และนั่นทำให้เรารู้ว่าอีก 8 นาที ดวงอาทิตย์จะไปอยู่ตรงช่องนั้นและมันก็เป็นจริง ทำให้เราได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงยาวตลอดช่วงการเกิดปรากฏการณ์และสวยที่สุดเท่าที่ผมเคยได้มีโอกาสสัมผัสกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาในชีวิต ขณะเกิดปรากฏการณ์เราได้สังเกตเห็นโพรมิเนนซ์ (Prominence) และแสดงให้เห็นพวยแก๊สพุ่งออกมาจากขอบของดวงอาทิตย์
ประสบการณ์อย่างนี้ไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ ต้องเดินทางไปที่ที่จะมีเงาของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้นจึงจะเห็นได้ และในการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ ดร.ศรัณย์ แนะนำพวกเราว่าให้ทำทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติมากที่สุด เพื่อให้เราจะได้มีโอกาสได้สังเกตปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่าให้มากที่สุด งานนี้เราจึงต้องทำทุกอย่างให้เป็นอัตโนมัติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในการถ่ายภาพมุมแคบของปรากฏการณ์ ดร.ศรัณย์ ใช้โปรแกรม Eclipse Orchestrator ในการควบคุมการถ่ายภาพโดยเขียนสคริปไว้ล่วงหน้า ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างสูงมากในการเลือกค่าความไวแสง สปีดชัตเตอร์ และการกำหนดเวลาการถ่ายภาพในแต่ละช่วงปรากฏการณ์ โดยโปรแกรมที่เขียนสคริปไว้ล่วงหน้าและทำการซิงค์เวลา แล้วต่อกล้องดิจิตอลเข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อสั่งการถ่ายภาพจากโปรแกรม
โปรแกรม Eclipse Orchestrator ถือได้ว่าถ่ายภาพได้อย่างแม่นยำมาก รวมทั้งการติดตั้งฐานตามดาวของกล้องโทรทรรศน์ก็มีเทคนิคการตั้งกล้องโดยในการบาลานซ์ น้ำหนักระหว่างตุ้มน้ำหนักกับกล้องถ่ายภาพนั้น ควรให้น้ำหนักด้านตุ้มน้ำหนัก หนักกว่าเล็กน้อยเพื่อให้เฟืองในฐานกล้องขบกันสนิทมากขึ้นจะทำให้การตามดาวนั้นเคลื่อนที่ได้อย่างแม่นยำ และในการโฟกัสภาพ ดร.ศรัณย์ ก็ได้แนะนำว่าให้เราโฟกัสที่ดวงดาวจะทำให้การปรับโฟกัสได้แม่นยำมาก ซึ่งก็ถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับผมมากและการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากผู้มีประสบการณ์สูงนั้น ถือเป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือถ่ายภาพทั่วไปครับ และนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์การไปร่วมถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งหนึ่งของชีวิตผมที่ตื่นเต้น รวมทั้งได้ประสบการณ์ความรู้และเทคนิคในการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคามากที่สุดครับ
ตัวอย่างโปรแกรม Eclipse Orchestrator ที่ใช้ในการควบคุมการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน