สดร.-ชวนชม 2 ปรากฏการณ์ฝนดาวตก “ลีโอนิดส์” และ “เจมินิดส์” ชี้ ปีนี้โอกาสดี เพราะช่วงที่ดาวตกสูงสุดอยู่ในช่วงคืนเดือนมืด จึงปราศจากแสงไฟรบกวนจากแสงจันทร์ พร้อมจัดกิจกรรมให้บริการความรู้วิชาการ สอนใช้เครื่องมือดาราศาสตร์บนยอดดอยอินทนนท์ สถานที่ดูดาวที่ดีที่สุดของไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2555 ได้แก่ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ วันที่ 17-18 พ.ย.และ ฝนดาวตกเจมินิดส์ วันที่ 13-14 ธ.ค.สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในจุดที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน พร้อมจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” สัญจร ร่วมชมฝนดาวตกและวัตถุท้องฟ้า ณ จุดที่มีทัศนวิสัยทางดาราศาสตร์ที่ดีที่สุดของประเทศ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.เผยว่า ฝนดาวตกลีโอนิดส์ จะมีมากที่สุดในวันที่ 17-18 พ.ย.โดยสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พ.ย.ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 18 พ.ย.และช่วงเวลาที่คาดว่าจะเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือ เวลาเที่ยงคืนถึง 05:00 น.ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวสิงโตซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกลีโอนิดส์
“ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมฝนดาวตกลีโอนิดส์กันอย่างจุใจ เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ หลังเที่ยงคืนเมื่อดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ท้องฟ้าจะมืดสนิท เหมาะในการชมฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเห็นดาวตกมากถึง 15 ดวงต่อชั่วโมง” ดร.ศรัณย์ กล่าว
ฝนดาวตกลีโอนิดส์นั้น เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหาง ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์ สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”
สำหรับข้อแนะนำในการชมฝนดาวตกนั้น ควรเป็นสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกมีความสว่างมาก ทั้งนี้ วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชมเนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศรีษะพอดี ส่วนการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าควรตั้งกล้องทางทิศไหน ต้องอาศัยการเดาหรือเปิดหน้ากล้องเพื่อรอให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง เนื่องจากฝนดาวตกลีโอนิดส์มีอัตราเร็วสูงมาก และกระจายทั่วท้องฟ้า
ส่วนในเดือน ธ.ค.มีฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกคนคู่ ที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 13-14 ธ.ค.และปีนี้ยังเกิดในช่วงคืนเดือนมืด ข้างแรม 15 ค่ำ ไม่มีแสงจากดวงจันทร์มารบกวน นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าในปีนี้จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้มากกว่า 120 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งมีเวลาพอที่จะชี้ชวนกันดูฝนดาวตกได้
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนว่า “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมชวนคนไทยร่วมสังเกตการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และฝนดาวตกเจมินิดส์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เปิดฟ้า..ตามหาดาว” บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะในการชมฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นดอยสูง ปราศจากแสงเมืองรบกวน
นอกจากนี้ ในกิจกรรมดังกล่าวยังจะมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการดูดาว กิจกรรมทางดาราศาสตร์ พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค.56 นี้ อีกด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ Facebook/สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สามารถโทรศัพท์สมัครเข้าร่วมกิจกรรมหรือสอบถามรายละเอียดที่ 053-225569 ต่อ 305
***************
หมายเหตุ
กิจกรรม “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” เป็นกิจกรรมบริการวิชาการแก่ประชาชนในการให้ความรู้เบื้องต้นทางดาราศาสตร์ แนะนำวิธีการดูดาว สอนการใช้แผนที่ดาว และฝึกสังเกตวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่างๆ กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ทัศนวิสัยของท้องฟ้าเหมาะแก่การดูดาว ไม่มีเมฆมาบดบัง สำหรับกิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาวในปีนี้กำหนดจัดขึ้น 6 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2555(ฝนดาวตกลีโอนิดส์) ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 2 วันที่ 13-14 ธันวาคม 2555 (ฝนดาวตกเจมินิดส์) ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2556 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 6 วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประชาชนที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมตามกำหนดการดังกล่าวได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ Facebook สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Twitter:@N_Earth