สดร.เปิดตัว “หอดูดาวแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการ และประกาศเป็นผู้นำด้านดาราศาสตร์ในอาเซียน ชูความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหอดูดาวขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งในเขตเส้นศูนย์สูตร และสังเกตท้องฟ้าได้ครอบคลุมทั้งฟ้าเหนือและฟ้าใต้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แถลงเปิดตัว “หอดูดาวแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ม.ค.56 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหอดูดาวดังกล่าวได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” และตั้งอยู่ ณ สถานีทวนสัญญาณทีโอที (กม.44.4) อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวถึงความเหมาะสมของสถานที่ตั้งหอดูดาวว่า โดยปกติฝุ่นละอองต่างจะอยู่สูงไม่เกิน 2,000 เมตร ทำให้สถานที่ตั้งมีทัศนวิสัยทางดาราศาสตร์ดี เพราะอยู่สูงกว่าระดับฟ้าหลัว และสภาพอากาศของดอยอินทนนท์ยังแห้ง และเย็น นอกจากนี้ ยังเป็นหอดูดาวขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเพียงไม่กี่แห่งในโลก ทำให้สังเกตท้องฟ้าได้ทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ แต่ก็มีข้อเสียที่มีฤดูฝนยาวนาน จึงสังเกตท้องฟ้าได้ประมาณ 200 วันต่อปี
ทั้งนี้ หอดูดาวแห่งชาติได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ซึ่งใช้กระจกรวมแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร และจัดเป็นหอดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวกล้องติดตั้งบนโดมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร ซึ่งสามารถหมุนได้ 360 องศา และมีช่องเปิด-ปิด (Shutter) กว้าง 3 เมตร สำหรับช่วยกันลมไม่ให้กล้องสั่นไหว
การก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติแล้วเสร็จเมื่อเดือน มี.ค.55 ซึ่ง ดร.ศรัณย์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ได้เริ่มใช้งานหอดูดาวหลังพ้นฤดูฝนของปี 2555 ที่ผ่านมา และมีนักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาว อาทิ ไต้หวัน อินโดนีเซีย เป็นต้น และเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้ทางอังกฤษยังติดต่อขอติดตั้งอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพเร็วสูง ซึ่งใช้ถ่ายภาพการระเบิดของดวงดาวได้ อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีนี้ยังเป็น่วงทดลองใช้งาน ซึ่งยังไม่มีการเปิดรับแบบเสนอโครงการวิจัยอย่างเป็นทางการ
ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า ในวันที่ 22 ม.ค.56 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดหอดูดาวแห่งชาติ และการเปิดใช้งานหอดูดาวแห่งชาตินี้ จะทำให้ไทยเป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์ของอาเซียน และจะมีความร่วมมือกับ 10 ประเทศอาเซียนในด้านดาราศาสตร์ ทั้งนี้ เพราะไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการเตรียมกำลังคนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีความร่วมมือกับประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์อยู่แล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี เป็นต้น
คลิปแนะนำหอดูดาวแห่งชาติ
ตัวอย่างภาพดาวพฤหัสบดีที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติ โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา