xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอดูดาวแห่งชาติบนดอยอินทนนท์
หอดูดาวแห่งชาติ (Thai National Observatory) เป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการจัดตั้งขึ้นเมื่อ 20 ก.ค.2547 โดยเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อต้นปี 2553 และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” เมื่อ 13 ต.ค.54

หอดูดาวแห่งชาติตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ณ สถานีทวนสัญญาณทีโอที (กิโลเมตรที่ 44.4) และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,478.5 เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับฟ้าหลัวที่มีระดับสูงไม่เกิน 2,000 เมตร และสถานที่ตั้งมีความสว่างของท้องฟ้าใกล้เคียงกับดูดาวสำคัญๆ อาทิ หอดูดาวบนยอดเขามัวนาคี (Mauna Kea Observatories) รัฐฮาวาย สหรัฐฯ และ หอดูดาวสถาบันดาราศาสตร์อินเดีย บนยอดเขาสรัสวตี (Indian Institute of Astrophysics on Suraswati Mount) เป็นต้น

อาคารสำคัญของหอดูดาวแห่งชาติ ประกอบด้วย อาคารหอดูดาว เป็นอาคารทรงกลมสูง 10.5 เมตร ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่รองรับการควบคุมระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต ด้านบนของอาคารครอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาส เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร สูง 5.5 เมตร ซึ่งสามารถหมุนได้ 360 องศา และอาคารควบคุม ซึ่งประกอบด้วย ห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์ และห้องพักเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้ปฏิบัติงานในหอดูดาว และยังติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.5 เมตร เพื่อรองรับงานวิจัยระดับรองลงมา

กล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรของหอดูดาว ใช้ระบบทัศนศาสตร์แบบริชชี-เครเทียน (Ritchey-Chretien) โดยมีกระจกปฐมภูมิเป็นกระจกโค้งไฮเปอร์โบลาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,400 มิลลิเมตร และมีสัดส่วนทางยาวโฟกัส f/1.5 แต่รวมทั้งระบบมีสัดส่วนทางยาวโฟกัส f/10 และมีกำลังขยาย 5,000 เท่า ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำกระจกคือแก้วที่มีการขยายตัวต่ำ เคลือบผิวด้วยอะลูมิเนียม และซิลิกอนไดออกไซด์ และมีกระจกทุติยะภูมิขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 560 มิลลิเมตร ที่ทำขึ้นจากแก้วบอโรซิลิเกต และเคลือบผิวด้วยอะลูมิเนียม

การทำงานของกล้องโทรทรรศน์ควบคุมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถควบคุมการปรับมุมทั้งมุมราบ มุมเงย การปรับโฟกัส ปรับมุมเอียงกระจก การเลือกเก็บข้อมูล และการติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งมีระบบหยุดฉุกเฉินในกรณีที่มีการปรับมุมเงยหรือมุมราบเกินขีดพิกัด





คลิปแนะนำหอดูดาวแห่งชาติ


ข้อมูลจาก - เอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “หอดูดาวแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา”
ภาพระหว่างก่อสร้างหอดูดาว
หอดูดาวแห่งชาติบนดอยอินทนนท์ (ซ้าย) อาคารหอดูดาวเป็นอาคารทรงกลม และ (ขวา) อาคารควบคุมซึ่งทางมีทางเชื่อมระหว่าง 2 อาคาร (ภาพประกอบทั้งหมดจาก สดร.)
กระจกปฐมภูมิเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรของกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาว

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา (ซ้าย) รองผู้อำนวยการ สดร. และ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม (ขวา) ผู้อำนวยการ สดร.






กำลังโหลดความคิดเห็น