xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าสร้างหอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ที่พิษณุโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค
เดินหน้าสร้างหอดูดาวแห่งชาติแห่งที่ 4 ที่ จ.พิษณุโลก หวังเป็นแหล่งบริการดาราศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการของภูมิภาค และสร้างความตระหนักและตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ และ นายสุรินทร์ ฐิติปุญญา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งและดำเนินงานหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดตั้งและดำเนินงานหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน มุ่งหวังให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถาบันการศึกษาในภาคเหนือตอนล่าง และกระจายโอกาสในการบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

รศ.บุญรักษา กล่าวว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 24 มี.ค.52 ให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดำเนินการภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 460 ล้านบาท กำหนดแผนในการก่อสร้างทั้งหมดรวม 5 แห่ง ระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพฯพระราชทานชื่อหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนทั้ง 5 แห่ง ให้ชื่อว่า “หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา” ต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของหอดูดาวนั้นๆ

ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคไปแล้วจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา (ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (ต.วังเย็น อ.แปลงยาว) และ หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา (เขารูปช้าง) ซึ่ง หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พิษณุโลก จะเป็นแห่งที่ 4 ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นลำดับถัดไป

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พิษณุโลก ตั้งอยู่บริเวณบึงราชนก ต.สมอแข อ.วังทอง จ.พิษณุโลก บนเนื้อที่ 30 ไร่ ภายในพื้นที่ของหอดูดาวฯประกอบด้วย อาคารหอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์หลัก ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร บนฐานกล้องที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถค้นหาและติดตามวัตถุท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ เป็นกล้องที่มีความทันสมัย มีขีดความสามารถสูง สามารถให้บริการดูดาวและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่นๆ ให้แก่ประชาชน รวมทั้งรองรับการศึกษาวิจัยในระดับเบื้องต้น

ตัวอาคารหอดูดาวครอบด้วยโดมทำจากไฟเบอร์กลาส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ซึ่งจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง ใช้ในการให้บริการดูดาวและถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า กล้องถ่ายภาพซีซีดี เครื่องบันทึกสเปกตรัม นอกจากนี้ ยังมีอาคารนิทรรศการทางดาราศาสตร์ที่มีโดมดาราศาสตร์ขนาดเล็กสำหรับฉายดาว ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้งที่ใช้ในการจัดกิจกรรมดูดาวกลางแจ้ง อาคารและอุปกรณ์เพื่อรองรับการจัดฝึกอบรม/จัดนิทรรศการ/จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมทั้งมีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมโยงกับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งตั้งอยู่ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

“หากการก่อสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถาบันการศึกษาในภูมิภาค รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค อันจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของชาติที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพสูง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ เกิดความตระหนัก และตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นรูปธรรม” รศ.บุญรักษา กล่าว
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งและดำเนินงานหอดูดาวภูมิภาค
แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งหอดูดาวภูมิภาค จ.พิษณุโลก






กำลังโหลดความคิดเห็น