สดร.- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” ณ สถานีทวนสัญญาณทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กม.44.4 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.จัดพิธีเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” ในวันอังคารที่ 22 ม.ค.56 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” อย่างเป็นทางการ ณ สถานีทวนสัญญาณทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กม.44.4 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา บริเวณสถานีทวนสัญญาณทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กิโลเมตรที่ 44.4 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคณะ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
เมื่อเสด็จฯ ถึงพลับพลาพิธี ทรงประทับพระราชอาสน์ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
จากนั้น เสด็จฯ ออกจากพลับพลาพิธีไปยังอาคารควบคุมหอดูดาว เสด็จฯขึ้นชั้น 2 ของอาคารควบคุมฯ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการและห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร และเสด็จฯขึ้นชั้น 3 ของอาคาร ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” แล้วเสด็จฯ เข้าไปภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา บริเวณชั้น 2 ทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นทองเหลืองบริเวณฐานกล้องโทรทรรศน์ เสด็จฯขึ้นชั้น 3 ทอดพระเนตรกล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร และเสด็จฯออกจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังเรือนที่ประทับแรมพิเศษดอยผาตั้ง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากลทัดเทียมกับนานาชาติ ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการอย่างกว้างขวางกับนักวิชาการ และหน่วยงานทางดาราศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย
ใน ปี พ.ศ.2250 รัฐบาลได้เห็นชอบให้โครงการหอดูดาวแห่งชาติเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นโครงการในพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 52 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติฯ ว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” เมื่อวันที่ 28 ก.ย.54
หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตั้งอยู่ ณ บริเวณสถานีทวนสัญญาณทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนนท์ กม.44.4 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร มีทัศนวิสัยทางดาราศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อยู่สูงจากระดับฟ้าหลัว มีสภาพอากาศปลอดโปร่งสามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้เฉลี่ยมากกว่า 200 คืนต่อปี รวมทั้งยังปราศจากแสงจากเมืองใหญ่รบกวน ประกอบด้วย อาคารหลัก 2 หลัง คือ อาคารหอดูดาว และอาคารควบคุม มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 501.3 ตารางเมตร เป็นอาคารหอดูดาว 50.30 ตารางเมตร และอาคารควบคุม 451 ตารางเมตร
อาคารหอดูดาวเป็นอาคารที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์หลักของหอดูดาว มีลักษณะเป็นอาคารทรงกระบอก ฝังฐานรากลึก 21 เมตร ผนังอาคารเป็นผนังวงแหวน (Ring Wall) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร ส่วนบนติดตั้งโดม (Dome) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร สูง 5.5 เมตร ความสูงรวมทั้งหมดประมาณ 19 เมตร กล้องโทรทรรศน์ตั้งอยู่บนฐาน (Pier) ตัวโดมและภายในอาคารสามารถหมุนได้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่กวาดพิกัดของกล้องโทรทรรศน์ (Co-rotating Dome) มีช่องปิด-เปิด (Shutter) กว้าง 3 เมตร ช่องปิด-เปิดนี้ช่วยกันลมที่อาจทำให้กล้องสั่นไหวได้
โดมหอดูดาวนี้ ออกแบบโดยบริษัท EOS Space Systems PTY. Ltd.ประเทศออสเตรเลีย อาคารควบคุมเป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของนักดาราศาสตร์และเจ้าหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ฯ พื้นที่ชั้น 1 ประกอบด้วยห้องเก็บเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ และห้องพักนักดาราศาสตร์ พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลัก และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ส่วนดาดฟ้าของอาคารควบคุมจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร อีกกล้องหนึ่งด้วย อาคารหอดูดาวและอาคารควบคุมเชื่อมต่อกันจากชั้นดาดฟ้าของอาคารควบคุมเข้าสู่อาคารหอดูดาว
กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ออกแบบและสร้างโดยบริษัท EOS Technologies, Inc.ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งในระบบอัลตะซิมุท (Alt-azimuth System) ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีประสิทธิภาพเล็งและติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยความแม่นยำสูง ระบบทัศนศาสตร์ของกล้องเป็นระบบ ริชชี-เครเทียน (Ritchey-Chretien) ซึ่งเป็นระบบทัศนศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์ที่ออกแบบมาให้ลดผลความบิดเบี้ยวของภาพที่เรียกว่า “โคมา” (Coma)
กระจกหลัก (Primary Mirror) ของกล้องโทรทรรศน์ เป็นกระจกโค้งไฮเปอร์โบลาที่มีค่าสัดส่วนทางยาวโฟกัส f/1.5 และมีค่าสัดส่วนทางยาวโฟกัสรวมของระบบเป็น f/10 ระบบโฟกัสของกล้องโทรทรรศน์นี้เป็นแบบ “แนสมิท” (Nasmyth) ทำให้แสงของดาวที่ผ่านเข้ามาสะท้อนออกทางด้านข้างของกล้องโทรทรรศน์ ดังนั้น จึงติดเครื่องบันทึกสัญญาณระดับสูงต่างๆ ที่จะใช้ไว้ทางด้านข้างของกล้องเพื่อใช้เก็บข้อมูลในการวิจัยทางดาราศาสตร์ ได้แก่
กล้องถ่ายภาพซีซีดี (CCD Camera) ที่ใช้วัดความเข้มของแสงดาว (Photometry) ในช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่อัลตราไวโอเล็ต คลื่นมองเห็นและอินฟราเรด วัดตำแหน่งดาว (Astrometry) และถ่ายภาพดาว (Photography)
เครื่องซีซีดีสเปกโทรกราฟ (CCD Spectrograph) ที่สามารถวัดการความเร็วในแนวเล็ง (Radial Velocity) ของดาว วัดการแผ่พลังงานการแปรแสงและองค์ประกอบทางเคมีของดาว