xs
xsm
sm
md
lg

หยิบภาพถ่ายดาราศาสตร์มารีวิว...กว่าจะได้รางวัล

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


จากโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2555 ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” ภาพที่ได้รับรางวัลก็ล้วนแต่เป็นภาพที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ซึ่งคัดเลือกจากภาพที่ส่งเข้าประกวดมากกว่า 300 ภาพ แล้วภาพที่ได้รับรางวัลแต่ละประเภทนั้นผู้ถ่ายเขามีเทคนิควิธีการอย่างไร ถึงได้ชนะใจกรรมการ

วันนี้เรามาดูกันว่าภาพแต่ละประเภทที่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ละท่านมีเทคนิคและวิธีการรวมทั้งเคล็ดลับอย่างไรมาดูกันเลยครับ สำหรับภาพที่ส่งเข้าประกวดมีทั้งหมดอยู่ 5 ประเภทด้วยกัน ผมจะขอยกเอาแต่เฉพาะภาพที่ได้รางวัลชนะเลิศนะครับ

ภาพถ่ายประเภท Deep Sky Objects

ชื่อภาพ “ผ้าคลุมหน้าแสนสวย (NGC6995)”
ภาพโดย : นายสิทธิ์ สิตไท

ภาพประเภทแรกนี้ จัดเป็นประเภทที่มีความยากมากที่สุด และต้องใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพมากที่สุดมาดูกันว่าผู้ถ่ายใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ
กล้องโทรทรรศน์ Takahashi Epsilon E-160 ทางยาวโฟกัส 530 mm. F3.3,
ขาตั้งกล้องโทรทรรศน์ Mount : Skywatcher EQ-6 Pro
ระบบไกด์ : Finder scope 8x50 + CCD Mead DSI Pro + GPUSB Guide
กล้องถ่ายภาพ : Monochrome CCD QHY9 + Astrodon Filter LRGB

เทคนิคการถ่ายภาพ
ถ่ายภาพด้วย Monochrome CCD ควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ -15 องศาเซลเซียส เพื่อลด Noise ถ่ายภาพผ่าย Filter L (Luminance) 5 นาที จำนวน 6 ภาพ เพื่อเก็บรายละเอียดของแสงจากวัตถุ และถ่ายผ่าน Filter R(Red) 5 นาที จำนวน 2 ภาพ, G(Green) 5 นาที จำนวน 2 ภาพ, B(Blue) 5 นาที จำนวน 2 ภาพ เพื่อเก็บสีของวัตถุ จากนั้นถ่าย Dark frame เพื่อนำมาลบ Noise และ Flat field เพื่อลดสัญญาณที่ไม่ต้องการ ซึ่งเกิดจากการระบบ Optic ของเลนส์หรือกระจกของกล้องโทรทรรศน์ หรือฝุ่นที่เกาะอยู่บนเลนส์ หรือบน Filter แล้วนำมา Process ด้วยโปรแกรม Maxim DL และปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop

จากอุปกรณ์และเทคนิคข้างต้น ก็พอจะบอกได้แล้วนะครับว่า ภาพนี้ถ่ายมาด้วยประสบการณ์และต้องลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะการถ่ายภาพประเภทนี้ นอกจากต้องมีกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถติดตามวัตถุได้แล้ว อุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพที่ดีแล้ว ทักษะในการตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้สามารถติดตามวัตถุได้อย่างแม่นยำก็ล้วนแต่เป็นทักษะขั้นสูงในการถ่ายภาพ ผู้ถ่ายต้องมีความรู้ความเข้าใจทางดาราศาสตร์เป็นอย่างดี และนอกจากเทคนิคในการบันทึกภาพแล้ว กระบวนการประมวลผลภาพ (Image Processing) ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีความรู้ ทักษะ และการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีถึงทำให้ได้ภาพออกมาอย่างสวยงามครับ

ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
ชื่อภาพ “Back Drop of Venus Transit of 2012” ภาพโดย : นายสิทธิ์ สิตไทย

ภาพประเภทที่สองนี้ ปีนี้มีจำนวนผู้ส่งภาพเข้าประกวดมากที่สุด ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคา ปรากฏการณ์สุริยุปราคา และที่มีจำนวนภาพมากที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งศตวรรษ ที่ได้รับความสนใจในการถ่ายภาพมากที่สุด และภาพที่ได้รางวัลชนะเลิศก็เป็นภาพปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ที่มีความคมชัดเป็นอย่างดี มาดูกันว่าเทคนิคและวิธีการมีอะไรกันบ้าง

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ
กล้องโทรทรรศน์ : Maksutov Intes MK67 ทางยาวโฟกัส : 1800 mm. F12
ขาตั้งกล้องโทรทรรศน์ : Mount : Skywatcher EQ-6 Pro
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1/3200 วินาที ความไวแสง(ISO) : 200
กล้องถ่ายภาพ : Canon 60D ฟิลเตอร์ : BAADER AstroSolar Safety Film(ND3.8)

เทคนิคการถ่ายภาพ
ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบอิคิวทอเรียล ปรับสปีดให้ติดตามดวงอาทิตย์ โดยถ่ายภาพเน้นบริเวณจุดบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) โฟกัสที่จุดบนดวงอาทิตย์ ด้วยอุปกรณ์ 3X LCD Viewfinder ถ่ายภาพผ่านฟิลเตอร์ BAADER AstroSolar Safety Film(ND3.8) โดยพยายามใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง เพื่อลดความแปรปรวนของบรรยายกาศ และให้เห็นรายละเอียดของดวงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด ภาพนี้เป็นภาพสีธรรมชาติที่ได้จากฟิลเตอร์ BAADER

จากเทคนิคและวิธีการรวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ ผู้ถ่ายเน้นเลือกถ่ายเฉพาะบริเวณจุดบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) และโฟกัสที่จุดบนดวงอาทิตย์ และถ่ายภาพผ่าน Solar Filter ซึ่งเทคนิคที่สำคัญอีกอย่างก็คือการถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์สูง ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก นอกจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงและการถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบอิคิวทอเรียลที่เคลื่อนที่ติดตามดวงอาทิตย์แล้ว การปรับโฟกัสก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญในการถ่ายภาพให้คมชัด

ดังนั้น ภาพนี้นอกจากจะเห็นดาวศุกร์ที่ชัดเจนแล้ว รายละเอียดต่างๆ บนผิวดวงอาทิตย์ จุดบนดวงอาทิตย์ ก็ทำให้ภาพทั้งหมดออกมาอย่างสมบูรณ์และสวยงาม รวมทั้งเวลาขณะบันทึกภาพขณะขอบดาวศุกร์สัมผัสกับขอบด้านในของดวงอาทิตย์ และกำลังจะออกจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัมผัสที่ 3 (internal egress) ของปรากฏการณ์ ยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางดาราศาสตร์ได้อีกด้วย

ภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ชื่อภาพ “Plato Crater and Craterlets”
ภาพโดย : โชติชัย ปิยวงศ์สิริ

ภาพประเภทที่สาม เป็นประเภทที่เน้นเฉพาะวัตถุในระบบสุริยะนั้น หากลองศึกษาวิธีการถ่ายภาพประเภทนี้ จะเห็นว่ากำลังได้รับการนิยมในการถ่ายภาพพอสมควร ดังจะเห็นจากการที่มีผู้พัฒนา Software ที่ช่วยในการถ่ายภาพและ Software ที่ช่วยในการประมวลผลภาพมากมาย แต่ภาพนี้ผู้ถ่ายใช้เทคนิคและวิธีการอย่างไร มาดูกันครับ

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ
กล้องโทรทรรศน์ : Maksutov - Newtoniun ทางยาวโฟกัส : 2160 mm. F12
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 2 วินาที
กล้องถ่ายภาพ : Logitech Quickcam Pro 9000 ฟิลเตอร์ : UV/IR

เทคนิคการถ่ายภาพ
ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบอิคิวทอเรียล ด้วยวิธีแบบ Prime Focus ด้วยกล้องเว็บแคมด้วยเวลา 2 นาที จากนั้นนำไฟล์ VDO มา Process ด้วยโปรแกรม Registack และปรับแต่งภาพความสว่าง คอนทราสต์ด้วย Photoshop

จากอุปกรณ์และเทคนิคผู้ถ่าย เลือกถ่ายภาพดวงจันทร์โดยเน้นเฉพาะหลุม Plato เท่านั้น ซึ่งการถ่ายดวงจันทร์เฉพาะบางส่วนของดวงจันทร์นั้น จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ ซึ่งผู้ถ่ายใช้กล้องโทรทรรศน์ประเภท Maksutov - Newtoniun ทางยาวโฟกัส 2160 mm.และถ่ายภาพด้วยกล้องเว็บแคม Logitech Quickcam Pro 9000 โดยการถ่ายด้วยกล้องเว็บแคมจะทำให้ได้ทางยางโฟกัสเพิ่มขึ้นอีกด้วย (เนื่องจาก Image Sensor ของเว็บแคมเล็กกว่า Image Sensor ของกล้องดิจิตอล SLR) จึงทำให้ได้ความยาวโฟกัสที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมทั้งผู้ถ่ายใช้เทคนิคการถ่ายภาพหลุมดวงจันทร์ด้วยวิธีการถ่ายภาพวีดีโอ แล้วนำไฟล์วีดีโอความยาว 2 นาที ซึ่งผมคาดว่าจากไฟล์ วีดีโอที่ได้น่าจะได้จำนวนภาพมากกว่า 1,000 เฟรม เพื่อนำไปประมวลผลด้วยโปรแกรม Registack จึงได้ภาพที่มีความคมชัด จนเข้าตากรรมการได้ไม่ยากนัก

ภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
ชื่อภาพ “ชมดาวก่อนฟ้าสาง”
ภาพโดย : ทวีศักดิ์ บุทธรักษา

ภาพประเภทนี้ ถือเป็นประเภทยอดนิยมสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เพราะนักถ่ายภาพทั่วไปก็สามารถถ่ายภาพได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ภาพนี้ทำไมถึงชนะใจกรรมการ มาลองดูเทคนิคและวิธีการกันก่อนครับ

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ
กล้องถ่ายภาพ : Nikon D3s
ทางยาวโฟกัส : 17 mm. F2.8
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1 วินาที ความไวแสง (ISO) : 1250

เทคนิคการถ่ายภาพ
ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องและใช้สายลั่นชัตเตอร์เพื่อความคมชัดในการถ่ายภาพ

จากเทคนิคข้างต้นจะเห็นว่า ผู้ถ่ายเลือกถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดของวิวภูชี้ฟ้ากับท้องฟ้าไว้ได้อย่างดี โดยเลือกใช้เวลาในการถ่ายภาพเพียง 1 วินาที ด้วยค่าความไวแสงสูงถึง (ISO) 1250 เพื่อไม่ให้จุดดาวยืดเป็นเส้น แต่ที่ภาพนี้ได้รางวัลชนะเลิศนั้น ไม่ใช้เพียงการถ่ายภาพออกมาได้อย่างสวยงามเพียงอย่างเดียว จุดสำคัญ คือ ผู้ถ่ายเลือกถ่ายภาพในทิศทางที่สามารถสังเกตเห็น แสงจักราศี (Zodiacal Light) ซึ่งเป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ออกมาได้อย่างสวยงามและสามารถนำมาอธิบายด้วยหลักการทางดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จึงทำให้ภาพนี้คว้ารางวัลชนะเลิศมาอย่างเป็นเอกฉันท์เลยทีเดียวครับ (สามารถอ่านรายละเอียดเทคนิคได้จาก http://www.manager.co.th/science/viewnews.aspx?newsID=9550000006234)

ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
ชื่อภาพ “เมฆจานบินสีรุ้ง”
ภาพโดย : ปทุมพร นิลเนาวรัตน์

ภาพประเภทสุดท้ายนี้ ถือว่าเป็นประเภทที่ได้รับความสนใจไม่น้อยครับ เพราะปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลกนั้นมีมากมายหลากหลาย เช่น ปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ ฟ้าผ่า เมฆ การเกิดรุ้งกินน้ำ ดวงจันทร์ทรงกลด หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด ซึ่งภาพที่น่าสนใจและดูตื่นเต้นมากที่สุดในปีนี้ก็คือ ภาพเมฆจานบินสีรุ้ง ซึ่งเป็นภาพที่หาชมได้ยากมาก เรามาดูกันว่าผู้ถ่าย ต้องทำอย่างไรถึงมีโอกาสได้ภาพนี้มาส่งประกวดครับ

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ
กล้องถ่ายภาพ : Canon 60D
ทางยาวโฟกัส : 87 mm. F5.6
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1/1000 วินาที
ความไวแสง(ISO) : 100

เทคนิคการถ่ายภาพ
ไม่มีเทคนิค

จากข้างต้น ผู้ถ่ายไม่ได้มีเทคนิคพิเศษในการถ่ายภาพแต่อย่างใด หากแต่ผู้ถ่ายภาพเป็นผู้มีความสนใจและชื่นชอบถ่ายภาพท้องฟ้าเป็นประจำอยู่แล้ว และในวันที่ถ่ายภาพเมฆจานบินสีรุ้งนี้ได้นั้น ผู้ถ่ายตั้งใจจะถ่ายภาพดวงอาทิตย์ แต่ท้องฟ้าไม่เป็นใจ จนกระทั่งเห็นภาพเมฆจานบินสีรุ้งดังกล่าวปรากฏในซอยแถวบ้าน จึงได้หยิบกล้องในมือขึ้นถ่ายจนปรากฏการณ์หายไปเป็นเวลา 30 นาที โดยภาพนี้ถือว่าเป็นภาพที่หาชมได้ยากที่สุด ของปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก ปรากฏการณ์หนึ่งเลยทีเดียว เรียกได้ว่าโอกาสที่คนบนโลกจะมีโอกาสได้เห็นน้อยมากถึงมากที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งภาพประเภทนี้ส่วนตัวผมคิดว่า คงต้องอาศัยการสังเกตท้องฟ้าบ่อยๆ และมีความชื่นชอบส่วนตัวอีกด้วย

สำหรับผู้ที่อยากถ่ายภาพและสนใจเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ (ชมรมคนรักมวลเมฆ ตามลิงก์ http://cloudloverclub.com/pages/first-page/) ได้ครับ

จากเทคนิควิธีการและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ละประเภทใช้ในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ นั้นก็ยังถือว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการถ่ายภาพ เพราะนอกจากนี้ยังมีอีกหลากกลายวิธีการในการถ่ายภาพให้ออกมาอย่างสวยงาม ซึ่งท่านสามารถติดตามอ่านในคอลัมน์การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ต่อๆ ไปครับ

************




เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น