สดร.จับมือสถาบันดาราศาสตร์เกาหลี ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์แห่งศตวรรษ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” พร้อมบรรยากาศจากสงขลา ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ ชี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ในอดีตนำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญๆ ในปัจจุบัน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.แถลงข่าวเชิญชวนนักเรียน เยาวชนและประชาชนทั่วไปรับชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งศตวรรษ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” (Transit of Venus) ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 6 มิ.ย.55
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก ซึ่งโดยส่วนตัวเพิ่งเคยชมปรากฏการณ์ดังกล่าวครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่เชียงใหม่ ส่วนครั้งล่าสุดนี้ หากพลาดจะต้องรอไปอีก 105 ปี ซึ่งปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค.2660
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นี้ รศ.บุญรักษา กล่าวว่า เหมือนปรากฏการณ์สุริยุปราคา แต่เนื่องจากดาวศุกร์มีขนาดเล็กมาก จึงบังไม่หมดเหมือนดวงจันทร์ ในอดีตนักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์นี้ เพื่อวัดระยะทางระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ และทำให้ทราบขนาดระบบสุริยะ รวมถึงการออกสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเส้นละติจูดและลองจิจูด
“ตอนนี้เราทราบข้อมูลเหล่านี้หมดแล้ว แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เรารู้ข้อมูลดาราศาสตร์และนำมาสู่การพัฒนาแผนที่ในยุคปัจจุบัน” รศ.บุญรักษา และสำหรับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่าสุดนี้ ทาง สดร.ได้ร่วมมือกับสถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี เพื่อร่วมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ครั้งนี้ รวมถึงถ่ายทอดปรากฏการณ์จากอีก 3 จุดในเมืองไทย คือ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา และสงขลา ผ่านทางเว็บไซต์ www.narit.or.th
ทางด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวถึงความพร้อมในการถ่ายทอดสด ว่า จากประสบการณ์ในการถ่ายทอดปรากฏการณ์จันทรุปราคา 2 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงข้อบกพร่องในการรองรับผู้เข้าชมเว็บไซต์ของทางสถานีจำนวนมาก จึงได้เตรียมเซิร์ฟเวอร์ที่น่าจะรองรับผู้ชมได้ถึงแสนคน
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะวงโคจรของโลกและดาวศุกร์ไม่ได้อยู่ระนาบเดียวกัน แต่ทำมุมกันประมาณ 3 องศา ขณะเดียวกันขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าก็มีขนาดเพียงครึ่งองศา เมื่อ 3 วัตถุมาเรียงในแนวเดียวกัน จึงจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น และเกิดปรากฏการณ์เป็นคู่ที่มีรอบห่างกันประมาณ 100 กว่าปี เช่นในปี 2547 เกิดคู่กับปี 2555 จากนั้นจะเว้นไปอีก 105 ปี
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ไทยจะพลาดชมในช่วงสัมผัสที่ 1 คือ ช่วงที่ดาวศุกร์สัมผัสผิวดวงอาทิตย์ และสัมผัสที่ 2 คือช่วงที่ดาวศุกร์ผ่านเข้าไปในดวงอาทิตย์ทั้งดวง เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้า แต่เมื่อดวงอาทิตย์โผล่จากขอบฟ้าแล้วจะรับชมปรากฏการณ์ได้จนถึงเวลา 11.49 น.
“8 ปีที่แล้วไทยเห็นได้ทั้งปรากฏการณ์ แต่ครั้งนี้ไทยโชคไม่ดี 100% เพราะจะไม่ได้เห็นสัมผัสแรกและสัมผัสที่ 2 ส่วนทางเกาหลีจะได้เห็นทั้งปรากฏการณ์ ซึ่งเราจะร่วมถ่ายทอดให้รับชมกันด้วย” ดร.ศรัณย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี รองผู้อำนวยการ สดร.ย้ำว่า รับชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นี้เหมือนการชมปรากฏการณ์อื่นของดวงอาทิตย์ที่ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันดวงตา ซึ่งอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายๆ คือ หน้ากากสำหรับช่างเชื่อม เบอร์ 14 และการใช้กล้องสองตารับภาพดวงอาทิตย์ให้ตกลงบนฉากขาวเพื่อชมปรากฏการณ์ทางอ้อม แต่ห้ามใช้กล้องสองตาส่องดวงอาทิตย์โดยตรง เพราะเลนส์กล้องจะรวมแสงทำลายดวงตาให้บอดสนิทได้
ทั้งนี้ สดร.ได้ร่วมกับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เพื่อตั้งจุดสังเกตการณ์และถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ณ บริเวณลานกิจกรรมหน้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ พร้อมจัดกิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับประชาชน อาทิ ตั้งกล้องโทรทรรศน์กว่า 20 ตัว ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านจอภาพขนาดใหญ่ และอุปกรณ์สำหรับสังเกตดวงอาทิตย์ เป็นต้น ผู้สนใจรับชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่เวลา 05.49-11.49 น.ในวันที่ 6 มิ.ย.55