สดร.มอบรางวัล “ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ผลงานถ่ายภาพที่ต้องอาศัยความทุ่มเทของช่างภาพ และความเข้าใจดาราศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ชี้วงการ “ดาราศาสตร์สมัครเล่น” กำลังเติบโตเรื่อยๆ และจะเป็นกำลังสำคัญของงานวิจัย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) มอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2555 “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” เมื่อวันที่ 25 ส.ค.55 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นผู้มอบรางวัล
ทั้งนี้ การประกวดแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.ประเภท Deep Sky Objects ผู้ชนะเลิศ คือ นายสิทธิ์ สิตไทย จากผลงาน “ผ้าคลุมหน้าแสนสวย” (NGC6995) ภาพถ่ายเนบิวลาผ้าคลุมไหล่ (Eastern Veil Nebula)
2.ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ผู้ชนะเลิศ คือ นายสิทธิ์ สิตไทย จากผลงาน “Back Drop of Venus Transit of 2012” ภาพถ่ายปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2555
3.ประเภทปรากฏการณ์ในระบบสุริยะ ผู้ชนะเลิศ คือ นายโชติชัย ปิยวงศ์สิริ จากผลงาน “Plato Crater and Craterlets” ภาพหลุมอุกกาบาตพลาโต (Plato Crater และหลุมอุกกาบาตเล็กๆ บนดวงจันทร์
4.ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ผู้ชนะเลิศ คือ นายทวีศักดิ์ บุทธรักษา จากผลงาน “ชมดาวก่อนฟ้าสาง”
5.ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลก ผู้ชนะเลิศ คือ น.ส.ปทุมพร นิลเนาวรัตน์ จากผลงาน “เมฆจานบินสีรุ้ง”
น.ส.ปทุมพร นิลเนาวรัตน์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลก บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ดีใจมากๆ ที่ได้รางวัล เพราะส่งประกวดเป็นครั้งแรก และได้รับรางวัลชนะเลิศเลย และโดยปกติชอบถ่ายภาพท้องฟ้าเป็นประจำอยู่แล้ว และในวันที่ถ่ายภาพเมฆคล้ายจานบินนี้ได้นั้นตั้งใจว่าจะถ่ายภาพดวงอาทิตย์ แต่ท้องฟ้าไม่เป็นใจ จนกระทั่งเห็นภาพเมฆดังกล่าวปรากฏในซอยแถวบ้าน จึงได้หยิบกล้องในมือขึ้นถ่ายจนปรากฏการณ์หายไปเป็นเวลา 30 นาที
ด้าน นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผู้ร่วมผลักดันให้เกิดการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 กล่าวว่า ภาพถ่ายเหล่านี้กระตุ้นให้คนรัก สนใจและเข้าใจดาราศาสตร์มากขึ้น แต่เบื้องหลังการถ่ายภาพเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด ต้องอดหลับอดนอน และต้องอาศัยโชคด้วย เพราะบางครั้งฟ้าไม่เปิด หรือบางปรากฏการณ์ เช่น ภาพเมฆประหลาด ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า เป็นต้นนั้น เราไม่มีสิทธิกำหนดได้ว่าจะให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นเมื่อไร
“เบื้องหลังเขาต้องรู้ดาราศาสตร์ รู้กาลเทศะอย่างลึกซึ้ง และยังต้องใช้อุปกรณ์ขั้นสูงในการถ่ายภาพ อย่างกล้องดาราศาสตร์ก็คือกลไกในตัวเรา เลนสืก็แทนลูกตาเรา แกนโลกและแกนกล้อง คือ แกนเดียวกัน เราต้องเข้าใจกลไกเหล่านี้ ไม่งั้นก็ถ่ายภาพไม่ได้” นายอารี กล่าว
ส่วน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า ปีนี้มีผู้สนใจส่งภาพประกวดมากขึ้นถึงกว่า 300 ภาพ มีผู้เข้าประกวดหน้าใหม่มากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าวงการนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในเมืองไทยกำลังโตขึ้น บางคนอย่างเช่น นายสิทธิ์ สิตไทย ก็พัฒนาฝีมือขึ้น จากที่เพิ่งส่งผลงานประกวดเข้าเป็นปีที่ 2 แต่ได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 2 ประเภท
สำหรับการถ่ายภาพนั้น ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการเก็บข้อมูลดาราศาสตร์ อย่างอุปกรณ์รับแสง CCD นั้นเมื่อรับแสงแล้วสามารถแปลงข้อมูลสร้างเป็นตัวเลขหรือภาพได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก และการถ่ายภาพดาราศาสตร์สมัครเล่นนี้ยังช่วยงานวิจัยของนักดาราศาสตร์ได้ หากเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
“การถ่ายภาพของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นจะเป็นข้อมูลเชิงสำรวจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัย โดยเฉพาะการติดตามดาวเคราะห์ ซึ่งกล้องขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีอยู่จำนวนน้อย และต้องไปใช้งานใหญ่ๆ ขณะที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นกระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้เก็บข้อมูลได้ต่อเนื่อง” ดร.ศัรณย์ กล่าว
นอกจากนี้ รอง ผอ.สดร.ยังกล่าวถึงกล้องที่ติดตั้งบนยานสำรวจในอวกาศต่างๆ ว่า สามารถถ่ายภาพได้คมชัดมากขึ้น เช่น ภาพถ่ายของยานคิวริออซิตี (Curiosity) ซึ่งตอนนี้ได้ส่งภาพพาโนรามาบนดาวอังคารกลับมาแล้ว ส่วนภาพระยะแรกที่ไม่ค่อยชัดนั้นเป็นภาพที่ได้จากกล้องติดล้อสำหรับดูการลงจอด จึงได้ภาพที่ไม่ละเอียดนัก อีกทั้งยังไม่สามารถกางกล้องความละเอียดสูงออกมาบันทึกภาพได้บันที เนื่องจากยังมีความร้อนจากการเสียดสีของชั้นบรรยากาศ สภาพอากาศบนดาวอังคาร และฝุ่นที่ฟุ้งกระจายระหว่างการลงจอดด้วย
ส่วนเรื่องความเชื่อว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งยานไปดาวอังคารจริงหรือไม่เคยไปดวงจันทร์นั้น ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกระทั่งในปัจจุบันยังมีคนเชื่อว่าโลกแบน หรือมีทฤษฏีความเชื่อแปลกๆ อย่างกรณีของ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ก็มีความเชื่อว่าไปเกิดเป็นเทพกึ่งยักษ์ ก็ยังมีความเชื่อแปลกๆ เหล่านี้อยู่
ชมภาพประกวดที่ได้รับรางวัลทั้งหมดที่ http://astv.mobi/Astrop