นาซาเปิด “โหมดความฝัน” ให้ “คิวริออซิตี” ยานสำรวจดาวอังคาร เพื่อประหยัดพลังงาน โดยปิดการทำงานด้านคอมพิวเตอร์ของยานในภารกิจที่ไม่จำเป็น
“คิวริออวิตี” (Curiosity) ยานเคลื่อนที่สำรวจดาวอังคารลำล่าสุดขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) มีช่วงเวลาในการประหยัดพลังงานประมาณ 2-3 นาที ที่เรียกว่า “ดรีมโหมด” (dream mode) ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานและช่วยให้ยานหนัก 1 ตันนี้ใช้พลังงานเฉพาะในส่วนการทำงานที่จำเป็น
จิม โดนัลด์สัน (Jim Donaldson) วิศวกรทางด้านการบินอาวุโสประจำยานคิวริออซิตีจากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาบอกผู้สื่อข่าวว่า การทำงานลักษณะดังกล่าวของยานเคลื่อนที่สำรวจก็คล้ายการทำงานของสมองสัตว์เลื้อยคลาน
สเปซด็อทคอมอ้างตามที่โดนัลด์สันระบุว่า การเปิดโหมดทำงานดังกล่าวช่วยให้ทีมดูแลคิวริออซิตีตรวจสอบสภาพของยานได้ ขณะที่การทำงานในส่วนของการคำนวณจะถูกปิดไว้ก่อน ส่วนเครื่องทำความร้อนและอุปกรณ์ส่วนอื่นที่จำเป็นจะถูกเปิดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมวิทยาศาสตร์ของยานครั้งต่อไป
ภารกิจหลักของยานคิวริออซิตีถูกกำหนดไว้ 2 ปี แต่นักวิจัยของนาซาคาดว่าแหล่งพลังงานจากพลูโทเนียมนั้นจะช่วยให้ยานทำงานได้นานกว่านั้นหากไม่มีชิ้นส่วนสำคัญใดเสียหาย แต่ทีมดูแลคิวริออซิตีก็พยายามให้มากที่สุดที่จะประหยัดพลังงาน ดังนั้น จึงมี “ดรีมโหมด” ขึ้นมาเพื่อช่วยในเรื่องนี้
ด้าน ไมค์ วัตกินส์ (Mike Watkins) จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันของนาซากล่าวว่า เมื่อปิดการทำงานของคอมพิวเตอร์ก็ช่วยให้พวกเขามีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งการเปิดโหมดความฝันของยานคิวริออซิตีนี้ก็ช่วยให้ทีมของนาซาทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ และยังสอดส่องสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่ยานหลับไหลได้
สำหรับยานคิวริออซิตีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในภารกิจห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดาวอังคาร (Mike Watkins) ของนาซา และมีมูลค่าถึง 8 หมื่นล้านบาทนี้ได้ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อเที่ยงวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย โดยภารกิจหลักของยานคือการสำรวจว่าดาวอังคารนั้นเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือไม่
เป้าหมายหลักในการศึกษาข้อมูลวิทยาศาสตร์ของยานคิวริออซิตีคือตีนภูเขาเมานท์ชาร์ป (Mount Sharp) ซึ่งเป็นภูเขาลึกลับสูง 5.5 กิโลเมตรที่โผล่ขึ้นมาตรงใจกลางของหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ซึ่งก่อนหน้านี้ยานอวกาศที่โคจรรอบดาวอังคารได้พบสัญญาณของโคลนและซัลเฟตในชั้นล่างของภูเขาแห่งนี้ ซึ่งชี้ว่าฐานของเนินดินนี้เคยสัมผัสน้ำเหลวเมื่อนานมาแล้ว
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จะป้อนคำสั่งให้ยานคิวริออซิตีใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขุดศึกษาตีนเขาของเมานท์ชาร์ป แต่ทางลาดชันของภูเขาก็ไม่ยากเกินกว่าที่ยานสำรวจจะปีนขึ้นไปสู่ยอดเขาได้ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าหากมีเวลาเหลือพอยานก็จะปีนขึ้นไปอยู่ยอดบนสุดของภูเขาก็ได้