เพื่อ “ความโชคดี” ในการนำยาน “คิวริออซิตี” ลงจอดดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์ในห้องควบคุมของนาซาต่างขบเคี้ยว “ถั่วลิสง” ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นโชคลางให้ปฏิบัติการผ่านไปได้ด้วยดี
ตามกำหนด “ยานคิวริออซีตี” (Curiosity) ในปฏิบัติการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดาวอังคาร (Mars Science Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) มีกำหนดลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารเวลา 12.31 น. ในวันที่ 6 ส.ค.2012 นี้ตามเวลาประเทศไทย และในช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นนี้ นักวิทยาศาสตร์ในห้องควบคุมต่างแจกจ่าย “ถั่วลิสง” เพื่อขบเคี้ยว ด้วยความเชื่อว่าจะนำโชคดีมาสู่ภารกิจ และเป็นประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่การนำส่งยานไปดวงจันทร์
ด้านเอเอฟพีรายงานด้วยว่ายานสำรวจดาวอังคารได้ส่งสัญญาณขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารกลับมายังโลก ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี และขณะยานเข้าสู่ตกสู่พื้นและลงจอดบนดาวอังคารในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีใครบนโลกทราบได้ว่าปฏิบัติการผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่ จนกว่าสัญญาณจากดาวอังคารที่ต้องเวลาเดินทางนาน 7 นาทีจะมาถึงโลก จึงเป็นช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่า “เจ็ดนาทีอันตราย” (seven minutes of terror)
ประเพณีในการขบเคี้ยวถั่วลิสงในห้องควบคุมนี้ย้อนกลับไปได้ในยุค 1960 ซึ่งสเปซด็อทคอมระบุว่า เป็นช่วงแรกๆ ที่นาซาเริ่มปฏิบัติการส่งยานไปดวงจันทร์ โดย เดวิด โอ (David Oh) ผู้อำนวยการการบินของปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดาวอังคารกล่าวว่า ในตอนนั้นนาซาพยายามส่งยานไร้คนขับไปดวงจันทร์ถึง 7 ลำกว่าจะประสบความสำเร็จ
ในการส่งยานแรงเจอร์ 7 (Ranger 7) ยานลำแรกของสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการส่งภาพถ่ายระยะใกล้ของดวงจันทร์กลับมายังโลกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.1964 นั้น ทีมงานในห้องควบคุมได้แจกจ่ายถั่วลิสงให้แก่กันไปทั่ว ดังนั้น ประเพณีการกินถั่วลิสงในภารกิจสำคัญจึงสืบเนื่องมานับแต่นั้น
“ดังนั้นนับจากนั้นเป็นต้นมา จึงกลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือมายาวนานในการแจกจ่ายถั่วลิสงให้ทั่วทุกครั้งที่เราส่งยาน ทุกครั้งที่เราทำอะไรที่สำคัญอย่างการลงจอดบนดาวอังคาร” โอกล่าว ทั้งนี้ พวกเขามีถั่วอยู่เหลือเฝือ เพราะผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการจะต้องแน่ใจว่าพวกเขาจะมีถั่วลิสงไม่ขาดมือ