“คิวริออซิตี” ยานมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทของนาซาลงจอดพื้นผิวดาวอังคารสำเร็จ ท่ามกลางความยินดีของนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ และนับเป็นความพยายามในการนำยานลงจอดครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์
“ยืนยันแตะพื้นแล้ว เรากำลังเหยียดล้อลงบนดาวอังคาร โอ้...พระเจ้า” เอเอฟพีรายงานเสียงอุทานจากสมาชิกในห้องควบคุมการนำยานคิวริออซิตี (Curiosity) ในปฏิบัติการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดาวอังคาร (Mars Science Laboratory: MSL) จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา)
ทั้งนี้ ภาพถ่ายฝุ่นตลบของล้อยานบนพื้นดาวอังคารจากกล้องที่ติดบนยานเป็นที่สิ่งที่ยืนยันว่า ยานอวกาศขนาดเท่ารถมินิ พร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออันซับซ้อนของยานที่ออกแบบมาเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่อาจจะเคยมีอยู่บนดาวอังคารนั้นได้ไปถึงดาวอังคารเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพที่ 2 ที่ส่งมาก็เป็นภาพเงาของยานที่ทาบลงบนพื้นผิวดาวอังคาร
เอเอฟพีระบุว่าเมื่อประกาศการลงจอดหลังผ่าน 7 นาทีอันตรายแล้ว ภายในห้องควบคุมแต่ไปด้วยบรรยากาศของความตื่นเต้นยินดีจากทีมงานของนาซา (Update!) ส่วนบีบีซีนิวส์ระบุเวลา ที่ยานลงจอดคือ 12.32 น.ของวันที่ 6 ส.ค. ตามเวลาประเทศไทย โดยลงจอดในหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์
ทางด้าน ชาร์ลส โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการของนาซา ได้แถลงหลังการลงจอดสำเร็จว่า ล้อของยานคิวริออซิตี เป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างที่ส่องทางเพื่อให้มนุษย์ขึ้นไปประทับรอยเท้าบนดาวอังคาร
ทั้งนี้ นาซาส่งยานขึ้นไปตั้งวันที่ 26 พ.ย.2011 โดยสเปซด็อทคอมระบุว่าเป็นภารกิจที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นความพยายามในการส่งยานอวกาศขนาดรถมินิคูเปอร์ออกจากโลกไปไกลหลายล้านกิโลเมตร แล้วลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ด้วยอื่น ซึ่งภารกิจของยานมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทนี้จะกินเวลานาน 2 ปี โดยมีหน้าที่สำรวจภายในหลุมอุกกาบาตเกลและตามล่าหลักฐานการมีมหาสมุทรโบราณบนดาวแดง
บีบีซีนิวส์ระบุว่ายานคิวริออซิตีนับเป็นยานสำรวจเคลื่อนที่ (rover) ลำที่ 4 ของนาซาที่ลงจอดบนดาวอังคาร แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและความซับซ้อนของยานทำให้ยานสำรวจลำอื่นๆ เล็กลงไปถนัด เฉพาะเครื่องมือของยานอย่างเดียวก็ใหญ่กว่ายานสำรวจลำแรกๆ ที่ส่งขึ้นไปดาวอังคารเมื่อปี 1997 ถึง 4 เท่า
ภารกิจของคิวริออซิตีคือการสำรวจใจกลางภูเขาที่สูงกว่า 5 กิโลเมตรในหลุมอุกกาบาตเกล โดยยานจะปีนเขาและศึกษาหินของภูเขาซึ่งมีอายุหลายพันล้านปี เพื่อค้นหาร่องรอยของน้ำ รวมถึงหาหลักฐานของสิ่งแวดล้อมในอดีตที่น่าจะมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์แจงว่าภารกิจดังกล่าวไม่ใช่ภารกิจที่เร่งด่วน
สำหรับพลังงานของยานนั้นจะใช้แบตเตอรีพลูโตเนียม ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในยานสำรวจดาวอังคารลำอื่นๆ และเบื้องต้นยานได้ทุนสนับสนุนในการดำเนินการเป็นเวลา 2 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะมีบทบาทต่อไปนานนับสิบปีหรือมากกว่านั้น
อินโฟกราฟิก อธิบายการลงจอด องค์ประกอบ และเปรียบเทียบขนาดของยานคิวริออซิตี
Source: SPACE.com: All about our solar system, outer space and exploration