เวลาผ่านไปยังไม่ถึง 3 อาทิตย์ หลังส่งยานสำรวจไปลงดาวอังคารได้สำเร็จ นาซาก็ประกาศว่า อีก 4 ปีจะส่งยานสำรวจลำใหม่ไปบนลงจอดบนดาวแดง เพื่อสำรวจลึกลงไปใต้พื้นดิน เพื่อหาคำตอบว่า “ดาวเคราะห์หิน” ซึ่งรวมถึงโลกนั้นกำเนิดขึ้นมาอย่างไร
ยานอินไซต์ (InSight) คือ ชื่อยานลงจอด (lander) ลำใหม่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่บีบีซีนิวส์ ระบุว่า มีกำหนดลงจอดบนดาวอังคารในปี 2016 ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณราว 1.4 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการผลิตจรวดเพื่อนำส่งยานทะยานฟ้า โดยชื่อของยานย่อมาจาก Interior Exploration using Seismic Investigations, Geodesy and Heat Transport.
ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) หรือเจพีแอล (JPL) ของนาซาในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการนำยานสำรวจเคลื่อนที่คิวริออซิตี (Curiosity Rover) เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นผู้ดูแลหลักในโครงการส่งยานลำใหม่ของนาซานี้
ในส่วนของการออกแบบระบบจอดนั้นจะอิงความสำเร็จของยานลงจอดฟีนิกซ์ (Phoenix) ที่ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารเมื่อปี 2008 ถึงแม้ยานในปี 2016 จะอิงเทคโนโลยีลงจอดเดียวกัน แต่ในส่วนของเครื่องมือที่ยานนำไปด้วยนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก
อุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนจะคอย “ฟัง” แผ่นดินดาวอังคารไหว และใช้ข้อมูลนี้ในการกำหนดขอบเขตระหว่างชั้นหินของดาวเคราะห์ และจะหาคำตอบว่าดาวเคราะห์เพื่อนบ้านนี้มีแกนกลางเป็นของเหลวหรือของแข็ง และจะให้เงื่อนงำว่าทำพื้นผิวของดาวอังคารไม่แยกเป็นแผ่นๆ เหมือนบนโลก โดยส่วนประกอบสำคัญของเครื่องมือนี้จะมาจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร
ยานอินไซต์ยังจะติดตั้งหัวตรวจวัดความร้อนที่สร้างในเยอรมนี โดยยานจะยื่นหัวตรวจวัดนี้ลงพื้นผิวดาวเคราะห์เพื่อวัดอุณหภูมิของดาวอังคาร และขั้นตอนนี้จะเผยว่าดาวเคราะห์กำลังเย็นลงได้อย่างไร ส่วนเจพีแอลจะติดตั้งกล้อง 2 ตัวบนยานและแขนกล นอกจากนี้ ยานยังจะติดตั้งเซนเซอร์ที่วัดองศาได้อย่างแม่นยำเพื่อหาการส่ายของแกนหมุนของดาวเคราะห์