xs
xsm
sm
md
lg

แย่ล่ะ! เซนเซอร์ตรวจวัดลมบนดาวอังคารของ “คิวริออซิตี” พัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดแสดงส่วนประกอบต่างๆ ของยานคิวริออซิตีที่จะเคลื่อนสำรวจไปบนพื้นผิวของหลุมอุกกาบาตเกลบนดาวอังคาร (นาซา/บีบีซีนิวส์)
นาซาตรวจพบเซนเซอร์วัดลมบนสถานีตรวจสภาพอากาศอังคารของ “คิวริออซิตี” พังถาวร แต่เน้นว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพียงแค่ทำให้ข้อมูลการวัดไม่สมบูรณ์เท่านั้น ส่วนสาเหตุของความเสียหายยังไม่ชัดเจน แต่วิศวกรคาดว่าหินบนพื้นผิวดาวแดงกระเด็นมาโดนเซนเซอร์ระหว่างการลงจอด ทำให้วงจรและสายไฟเสียหาย

ชาเวียร์ โกเมซ-เอลวิรา (Javier Gomez-Elvira) ผู้ตรวจสอบหลักในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถานีตรวจสภาพแวดล้อมของยานสำรวจ Rover Environmental Monitoring Station หรือเรมส์ (Rems) ซึ่งติดตั้งบน “คิวริออซิตี” (Curiosity) ยานสำรวจเคลื่อนที่ (rover) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวว่า เขามีความหวังเต็มเปี่ยมที่จะผ่านปัญหานี้ไปให้ได้

“เราพยายามเต็มที่ในการกู้การทำงานของระบบให้ได้มากเท่าที่จะเป็นไปได้” โกเมซ-เอลวิราบอกแก่ผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ ยานคิวริออซิตี เป็นงานในโครงการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดาวอังคาร (Mars Science Laboratory) หรือ เอ็มเอสแอล (MSL) ของนาซา ซึ่งเพิ่งลงตอดบนพื้นผิวดาวอังคารไปเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ในบริเวณหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ซึ่งตามแผนที่วางไว้ยานจะถูกใช้สำรวจดาวอังคารไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เพื่อค้นหาหลักฐานว่าดาวเคราะห์เพื่อนบ้านนี้อาจจะเคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตระดับจุลินทรีย์

ตอนนี้ทีมวิศวกรกำลังตรวจสอบสภาพของยานคิวริออซิตีหลังลงจอดตามกำหนดเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งในขั้นตอนนี้บีบีซีนิวส์ ระบุว่า รวมถึงขั้นตอนการเดินเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ของยานด้วย และระหว่างขั้นตอนนี้เองที่พวกเขาเองได้พบปัญหาที่เกิดขึ้นกับเซนเซอร์เรมส์

สำหรับสถานีตรวจวัดสภาพอากาศนั้น เป็นอุปกรณ์ที่สเปนพัฒนาขึ้นให้แก่โครงการยานสำรวจนี้ โดยสถานีตรวจวัดสภาพอากาศจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลอุณหภูมิอากาศและพื้นดิน ความกดอากาศ ความชื้น ความเร็วลม และทิศทางลม รวมถึงปริมาณการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตที่แผ่ลงมายังพื้นดิน

การตรวจวัดสภาพต่างๆ นั้น จะวัดโดยเซนเซอร์ที่กระจายอยู่รอบๆ ยานสำรวจ ส่วนเซนเซอร์วัดลมนั้นถูกติดตั้งบนอุปกรณ์ที่ยื่นออกมาคล้ายนิ้วมือของตัวยาน 2 ตำแหน่ง ซึ่งอยู่ตรงครึ่งทางก่อนขึ้นไปถึงตัวกล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านบนสุดของตัวยาน

ทีมเซนเซอร์เรมส์ สังเกตได้เป็นครั้งแรกว่ามีบางอย่างผิดปกติ ขณะกำลังอ่านค่าที่ได้จากเซนเซอร์ จากการสืบสวนสาเหตุชี้ว่าสายไฟเล็กๆ ที่สัมผัสกับวงจรของเซนเซอร์นั้นเปิดออก หรือเป็นไปได้ว่าอาจเสียหายรุนแรง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เป็นความเสียหายอย่างถาวร

ไม่มีใครบอกได้ชัดๆ ว่า ความเสียหายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่วิศวกรก็กำลังตรวจสอบทางทฤษฎีว่า ก้อนกรวดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นที่เกิดจากเครนนำร่อนสู่พื้นผิวนั้นได้กระเด็นมาโดนยานสำรวจ แล้วตัดสายไฟเล็กๆ ขาดได้หรือไม่ ทั้งนี้ มีเซนเซอร์หนึ่งตัวที่ได้รับความเสียหาย แต่การทำงานเซนเซอร์ที่เหลือเพียงตัวเดียวก็ทำให้ยากที่จะเข้าใจพฤติกรรมของลมบนดาวอังคาร

“มันลดความสามารถของเราในกการตรวจวัดความเร็วลม เมื่อมีลมพัดมาในบางทิศทาง แต่เราคิดว่าเราสามารถทำงานในบริเวณนั้นได้” อัชวิน วาซาวาดา (Ashwin Vasavada) นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่วยโครงการของยานคิวริออซิตีกล่าว โดยนอกจากเซนเซอร์วัดความเร็วลมแล้ว การวัดส่วนอื่นๆ ของเรมส์ยังทำงานได้ปกติ

สำหรับอุณหภูมิอากาศในหลุมอุกกาบาตเกลนั้นเพิ่มขึ้นเป็น -2 องศาเซลเซียส ในช่วงหลังเที่ยงตามเวลาบนดาวอังคาร และลดลงไปเหลือ -75 องศาเซลเซียสในเวลาเที่ยงคืนบนดาวอังคาร และในสภาพทั่วโลกยานคิวริออซิตีอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างดี และเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมายานได้ตรวจสอบความสามารถในการขับขี่ของตัวเอง โดยการโยกล้อหน้าและล้อหลังของยาน
ภาพซ้ายบน แสดงตำแหน่งหลุมอุกกาบาตเกลบนดาวอังคาร ขวาบนคือภาพตำแหน่งของยานคิวริออซิตีในหลุมอุกกาบาตเกล ภาพล่างคือตำแหน่งลงจอดของยานต่างๆ ของนาซา (นาซา/บีบีซีนิวส์)
ภาพบนคือยานคิวริออซิตีก่อนถูกส่งไปดาวอังคาร ภาพแสดงอุปกรณที่ยื่นออกมา 2 แท่ง ซึ่งเป็นส่วนที่ติดตั้งเซนเซอร์วัดความเร็วลม (นาซา/บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น