สดร.- สถาบันดาราศาสตร์ชวนลุ้น “ดาวหางไอซอน” สว่างเกินคาดปลาย พ.ย.นี้ อาจได้เห็นด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น โดยช่วงที่จะเห็นได้ดีที่สุดคือเช้ามืดวันที่ 20-25 พ.ย. และ 8-15 ธ.ค. และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดวันที่ 28 พ.ย. พร้อมย้ำดาวหางดวงนี้มาเยือนครั้งเดียวแล้วไม่กลับมาอีก
จดหมายข่าวจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า “ดาวหางไอซอน” (ISON) หรือ C/2012S1เกิดจากหมู่เมฆออร์ต (Oort Cloud) บริเวณขอบระบบสุริยะ ถูกค้นพบโดยสองนักดาราศาสตร์สมัครเล่น คือ ไวตาลี เนฟสกี ชาวเบลารุส และ อาร์เตียม โนวิคโคนอค ชาวรัสเซีย ภายใต้โครงการไอซอน (ISON: International Scientific Optical Network) เมื่อเดือน ก.ย. 2012
สดร.ระบุว่าการมาเยือนของดาวหางไอซอนครั้งนี้ สร้างความตื่นเต้นในหมู่นักดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ (Sungrazing Comet) ผ่านมาให้ชาวโลกได้ยลโฉมกัน และจะโคจรผ่านมาเพียงเที่ยวเดียว ไม่โคจรกลับมาอีกเหมือนดาวหางที่คุ้นเคยเช่น ดาวหางฮัลเลย์ (Comet Halley) ที่มีคาบโคจรทุก 75-76 ปี และเนื่องจากดาวหางมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็ง ฝุ่น และก๊าซหลายชนิด ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จะถูกเผาไหม้เกิดเป็นหางยาวจนอาจแตกเป็นเสี่ยง หรือระเหยออกไป หากดาวหางไอซอนเหลือเป็นชิ้นหนีรอดจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์มาได้ เราจะได้ชมปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่หายากนี้ครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า
นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังคาดการณ์ว่า ไอซอนจะเป็นดาวหางที่มีความสว่างที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในระยะแรกคาดว่าความสว่างปรากฎอาจมากถึงแมกนิจูด -13.5 ต่อมาในเดือน ส.ค.56 มีการประมาณค่าความสว่างใหม่ โดยคาดว่าช่วงต้นเดือน พ.ย.ค่าความสว่างอยู่ที่แมกนิจูด 6 และต้นเดือน ธ.ค.อยู่ที่แมกนิจูด -2 การวัดค่าความสว่างวัตถุท้องฟ้าใช้หน่วยแมกนิจูด (Magnitude) ค่ายิ่งต่ำยิ่งสว่างมาก ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นวัตถุสว่างน้อยที่สุดประมาณแมกนิจูด 6 ดังนั้นค่า -13.5 จึงนับว่าสว่างจ้าเมื่อเทียบกับวัตถุอื่นๆ
ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.เปิดเผยว่า ดาวหางไอซอนโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในวันที่ 28 พ.ย.โดยห่างเพียง 1.8 ล้านกิโลเมตรจากศูนย์กลางดวงอาทิตย์ ขณะที่ดาวพุธซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดนั้นห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 45 ล้านกิโลเมตร ด้วยระยะที่ใกล้ขนาดนี้ ดาวหางน่าจะมีความสว่างมากที่สุด แต่เนื่องจากถูกแสงของดวงอาทิตย์กลบ จึงไม่สามารถมองเห็นได้
“ดังนั้น ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการชมดาวหางไอซอน คือก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ในวันที่ 20-25 พ.ย.56 และหลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ในวันที่ 8-15 ธ.ค.56 เวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว อีกทั้งเมฆและอนุภาคฝุ่นบริเวณขอบฟ้าในช่วงฤดูหนาวจะไม่ขึ้นสูงมาก เราจึงน่าจะมีโอกาสลุ้นชมดาวหางด้วยตาเปล่าได้มากขึ้น หรือหากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ช่วยในการสังเกตจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น” ดร.ศรัณย์ และยังย้ำว่าดาวหางเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้าที่น่าสนใจและหาชมได้ยากเท่านั้น จะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อโลกทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามการที่ดาวหางไอซอนไม่เคยโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มาก่อน ทำให้การคาดการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตามองดาวหางไอซอนนี้อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลล่าสุดของดาวหางไอซอนผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันที่ www.narit.or.th และ www.facebook.com/NARITpage นอกจากนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะจัดแถลงข่าวการมาเยือนโลกและดวงอาทิตย์ของดาวหางไอซอนอีกครั้ง