ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์ชี้การมาของ “ดาวหางไอซอน” ช่วยทำให้เกิดความรู้และแรงบันดาลใจ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยเกิดปัญญา พร้อมอธิบายเหตุผลที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นลางร้าย เพราะเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติที่จะได้เห็นบ่อยๆ จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น
ระหว่างการแถลงข่าวเรื่อง “ดาวหางไอซอน” ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ 21 พ.ย.56 รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สามารถพิสูจน์ได้ว่าดาวหางนั้นเกิดจากอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องโชคร้ายหรือโชคไม่ดี เหมือนที่ผู้คนในสมัยโบราณกลัวดาวหางจนกลายเป็นความเชื่อผิดๆ ดาวหางเข้ามาในระบบสุริยะด้านในไม่ใช่สิ่งปกติที่เกิดขึ้นบ่อยเมื่อเกิดขึ้นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้คนโบราณกลัว ซึ่งมีความเชื่อโบราณจำนวนมากที่เชื่อว่าอะไรที่แปลกประหลาดต้องเป็นสิ่งไม่ดี
รศ.บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่าในความเป็นจริงการมาของดาวหางก็นำมาทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี โดยเชื่อว่าการที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์นั้นเกิดการที่โลกถูกดาวหางพุ่งชน แต่ก็เชื่อว่าน้ำและสิ่งมีชีวิตบนโลกก็เกิดจากดาวหาง การผ่านมาของดาวหางในช่วงนี้จะทำให้คนไทยได้รับ 3 สิ่ง คือ ความรู้ หากสื่อมวลชนช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะทำให้ประชาชนและเยาวชนได้รับความรู้ และการปรากฏของดาวหางจะทำให้เราได้สติปัญญา เพราะทำให้เราได้คิดหาคำตอบว่าทำไมจึงเกิดดาวหาง
“ดาวหางนั้นมาจากกลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ที่ระบบสุริยะ เดินทางมาไกล 1 ปีแสง ซึ่งหากไม่มีจินตนาการก็จะจินตนาการไม่ออก และยังสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะทำให้เกิดปัญหาในสังคม เมื่อสังคมมีความรู้และปัญญาจะทำให้ไทยเจริญก้าวหน้า เพราะความรู้และปัญญาจะทำให้เราสร้างสิ่งที่ขาดแคลนในสังคมได้ ดังนั้น ดาราศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือในการสร้างปัญญาแก่คน” รศ.บุญรักษากล่าว
สำหรับดาวหางไอซอนถูกค้นพบตั้งแต่เดือน ก.ย.55 โดย ไวลาลี เนปสกี นักดาราศาสตร์ชาวเบลารุส และ อาร์เตียม โนวิคโคนอค นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซีย ในโครงการไอซอน (ISON: International Scientific Network) โดยดาวหางนั้นมีกำเนิดจากเมฆออร์ต (Oort cloud) ที่ขอบระบบสุริยะ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในระยะที่เรียกว่า “เพอร์ริฮิเลียน” (Perihelion) ในวันที่ 28 พ.ย.56 ที่ระยะห่าง 1.2 ล้านกิโลเมตร ด้วยคาบวงโคจรเป็นรูปพาราโบลาทำให้ดาวหางโคจรเข้าในระบบสุริยะด้านในเพียงครั้งเดียวและไม่กลับมาอีก และคาดว่าหากดาวหางดวงนี้ไม่แตกสลายเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จะเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในศตวรรษ