xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ดาวหาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนประกอบของดาวหางไอซอนที่เข้ามายังระบบสุริยะชั้นในช่วงปลายปี 2013
ดาวหาง (Comet) หมายถึงวัตถุหนึ่งในระบบสุริยะ ประกอบด้วย น้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารประกอบระเหิดง่าย รวมถึงฝุ่นและหินปะปนกันอยู่ จึงถูกเรียกว่า “ก้อนน้ำแข็งสกปรก” มีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณนอกระบบสุริยะ และใช้เวลาหลายปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ เมื่อโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน จะปรากฏเป็นวัตถุสว่างที่มีหางพาดผ่านท้องฟ้าในยามค่ำคืน จึงเรียกวัตถุท้องฟ้าดังกล่าวว่า “ดาวหาง” มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

1.นิวเคลียส คือ ใจกลางของดาวหาง เป็นของแข็งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5 ไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือด้วยกล้องโทรทรรศน์จากโลก

2.โคมา (Coma) คือ ชั้นฝุ่นและก๊าซที่ห่อหุ้มนิวเคลียส ประกอบด้วย ฝุ่นและก๊าซที่ระเหิดออกมาเมื่อได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ จะปรากฏแสงเรืองสีเขียวซึ่งเป็นปรากฏการณ์เรืองแสงจากอะตอม หรือโมเลกุลของก๊าซไซยาโนเจน (CN) และก๊าซคาร์บอน (C2) เรียกว่าปรากฏการณ์ Fluorescence

3.หาง (Tail) คือ ก๊าซและอนุภาคฝุ่นที่ถูกปล่อยออกมาจากนิวเคลียส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

- หางฝุ่น (Dust Tail) เกิดจากฝุ่นและอนุภาคที่เป็นกลางทางไฟฟ้าระเหิดออกจากนิวเคลียส เมื่อดวงอาทิตย์ปะทุจึงถูกผลักออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ฝุ่นเหล่านี้จะสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นทางโค้งสว่างตามทิศทางวงโคจรของดาวหาง

- หางก๊าซหรือหางไอออน (Ion Tail) เป็นก๊าซเรืองแสงที่ประกอบด้วยอนุภาคที่มีประจุ เรืองแสง เนื่องจากได้รับพลังงานจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ เมื่อถูกสนามแม่เหล็กซึ่งเกิดจากการปะทุบนดวงอาทิตย์ผลักไปด้านหลังในทิศทางชี้ออกจากดวงอาทิตย์ ทั้งนี้ กระแสของลมสุริยะที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้หางแยกออกจากกันได้

เป้าหมายการศึกษาดาวหางปัจจุบันพุ่งเป้าไปที่การสำรวจประชากร การคำนวณวงโคจรล่วงหน้าและองค์ประกอบของดาวหาง เนื่องจากมีโอกาสที่ดาวหางจะพุ่งชนโลก จึงต้องรู้จักไว้ให้มากที่สุด เพื่อเตรียมรับมือกับการมาเยือนของดาวหางในอนาคต และการทราบกำเนิดและอายุของดาวหาง ทำให้เราทราบว่าวัตถุชนิดนี้กำเนิดขึ้นมาในช่วงต้นของการก่อตัวของระบบสุริยะ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าดาวหางเกี่ยวข้องกับกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก อีกทั้งมีทฤษฎีที่เชื่อว่าน้ำมากมายบนโลกนั้นมาจากดาวหางพุ่งชนโลก

ข้อมูลทั้งหมดจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)







กำลังโหลดความคิดเห็น